“นายหน้าอสังหาฯ” ได้กลายเป็นอาชีพที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นอาชีพที่มีความอิสระ ได้ค่าตอบแทนสูง ผู้ที่ทำงานประจำก็สามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ ส่งผลให้อาชีพนายหน้าอสังหาฯ ดูท่าว่าจะตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนยุคใหม่ที่มักจะมองหารายได้ 2 ช่องทางได้อย่างตรงจุด และสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นนายหน้าอสังหาฯ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มจับต้นชนปลายจากตรงไหนดี ? ในบทความนี้เราก็ได้สรุปใจความสำคัญของการเป็นนายหน้าอสังหาฯ มาฝาก ว่าแท้ที่จริงแล้วนายหน้าอสังหาฯ คือใคร ? ต้องรู้ข้อมูลสำคัญในการประกอบอาชีพอะไรบ้าง ? รวมไปถึงทักษะเฉพาะตัวที่ควรมีหากคิดจะเป็นนายหน้าอสังหาฯ ซึ่งถ้าคุณอ่านบทความนี้จบ เราก็รับประกันเลยว่าคุณจะรู้จักกับอาชีพนี้มากขึ้น และเข้าใจในทันทีเลยว่าทำไมนายหน้าอสังหาฯ ถึงได้กลายเป็นอาชีพที่ผู้คนยุคใหม่ให้ความสนใจกันเป็นอันดับต้น ๆ
นายหน้าอสังหาฯ คือใคร ?
นายหน้าอสังหาฯ คือ ตัวแทนของผู้ซื้อหรือผู้ขาย หรือเราจะเรียกกันสั้นๆ ว่า “เอเจนท์(Agent)” โดยนายหน้าอสังหาฯ จะรับหน้าที่ในการจัดการเอกสาร ช่วยเจราจาต่อรองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเพื่อให้ปิดการขายได้ไวมากยิ่งขึ้น(ถ้าปิดการขายได้นายหน้าอสังหาฯ จะได้รับค่าตอบแทน) หรือเรียกง่ายๆ ว่า นายหน้าอสังหาฯ จะรับหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ซื้อและผู้ขายนั่นเอง
หน้าที่หลักๆ ของนายหน้าอสังหาฯ
ค้นหาหรือเสนอรายการอสังหาฯ (ที่ดิน, บ้าน , คอนโด ฯลฯ) ให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อหรือเช่า
ให้ข้อมูลและรายละเอียด เกี่ยวกับอสังหาฯ ให้แก่ผู้ที่สนใจซื้ออสังหาฯ
จัดการธุรกรรมเอกสาร เซ็นสัญญาซื้อ-ขาย ให้แก่ผู้ขาย/ผู้ซื้อ
นัดหมายผู้ที่สนใจ(จะซื้อ/เช่า) เข้าชมพื้นที่จริง
ประสานงานการนัดหมายเซ็น สัญญาระหว่างผู้ซื้อ/ผู้ขาย/ผู้เช่า
ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการซื้อ/เช่า อสังหาฯ
หรือเรียกได้ว่าหน้าที่หลักๆ ของนายหน้าอสังหาฯ คือการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ขาย – ผู้ซื้อนั่นเอง
เรื่องที่ต้องรู้หากคิดจะเป็นนายหน้าอสังหาฯ
ทำความรู้จักตลาดอสังหาฯ
ตลาดอสังหาฯ ในที่นี้หมายถึงช่องทางการซื้อขายหรือปล่อยเช่าอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็นตามเว็บไซต์ เช่น Propertyhub , เพจ Facebook, ป้ายติดประกาศต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งผู้ที่ต้องการเป็นนายหน้าอสังหาฯ จะต้องทำความรู้จักตลาดต่าง ๆ เหล่านี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้นำข้อมูลอสังหาฯ มาเสนอขายหรือปล่อยเช่าให้แก่ผู้ที่สนใจ ยิ่งถ้าหากคุณมีข้อมูลอสังหาฯ ในมือมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้เปรียบมากเท่านั้น เพราะจะช่วยเพิ่มตัวเลือกที่ตรงกับความต้องการของผู้ที่สนใจได้มากขึ้นนั่นเอง
ทำความเข้าใจเรื่องสัญญานายหน้าอสังหาฯ
สำหรับสัญญานายหน้าอสังหาฯ จะมีอยู่ 2 รูปแบบ ก็คือ...
สัญญาแบบเปิด (Open Listing Agreement) : คือ สัญญาที่ไม่ได้ผูกมัดให้นายหน้าคนใดคนหนึ่งทำการขายหรือปล่อยเช่าอสังหาฯ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ใครขายหรือปล่อยเช่าได้ก่อนก็ได้รับค่าคอมมิชชั่นไป โดยสัญญาจะไม่มีการกำหนดระยะเวลาจนกว่าจะปิดการขายสำเร็จ อีกทั้งถ้าเจ้าของอสังหาฯ ขายหรือปล่อยเช่าได้เอง ก็ไม่ต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้กับนายหน้า
สัญญาแบบปิด (Exclusive Listing Agreement) : คือ สัญญาการแต่งตั้งให้นายหน้าหรือบริษัทเป็นผู้ดูแลการขายเพียงผู้เดียว โดยตัวสัญญาจะมีการกำหนดระยะเวลาการว่าจ้าง ซึ่งถ้าหากขายหรือปล่อยเช่าไม่สำเร็จ เจ้าของอสังหาฯ ก็มีสิทธิ์จ้างนายหน้าท่านอื่นได้ และในกรณีที่เจ้าของอสังหาฯ ขายหรือปล่อยเช่าได้เองโดยบังเอิญหรือตั้งใจ ก็ยังคงจะต้องเสียค่าคอมมิชชั่นให้นายหน้าตามอัตราที่ตกลงในสัญญา
ศึกษาเรื่องสินเชื่อของแต่ละธนาคาร
การที่คุณจะเป็นนายหน้าอสังหาฯ มืออาชีพได้อย่างสมบูรณ์แบบ นอกจากคุณจะต้องศึกษารายละเอียดของอสังหาฯ แล้ว คุณก็จำเป็นที่จะต้องศึกษารายละเอียดสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารต่าง ๆ ร่วมด้วย เพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ต้องการซื้ออสังหาฯ ได้อย่างถูกต้องและตรงกับความต้องการ พร้อมกับจะช่วยทำให้คุณปิดการขายอสังหาฯ ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ทักษะสำคัญที่ต้องมี หากคิดจะเป็นนายหน้าอสังหาฯ
หากถามว่าทุกคนสามารถเป็นนายหน้าอสังหาฯ ได้หรือไม่ ? คำตอบก็คือ “ได้” แต่ทั้งนี้คุณจะต้องมีทักษะในการประกอบอาชีพนี้สักหน่อย ซึ่งทักษะสำคัญในการเป็นนายหน้าอสังหาฯ ประกอบไปด้วย...
ทักษะการเจรจาที่ต้องดูน่าเชื่อถือ
เพราะราคาของอสังหาฯ ไม่ใช่แค่บาทสองบาท แต่เริ่มต้นกันที่หลักแสนหลักล้าน เพราะฉะนั้นการเจรจาจึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการประกอบอาชีพนี้
ทักษะเรื่องไหวพริบที่ต้องใช้ในการตอบคำถาม
การตอบคำถามได้อย่างรวดเร็วและตรงไปตรงมาจะช่วยทำให้คุณมีความน่าเชื่อถือเพิ่มมากยิ่งขึ้น ดังนั้นทักษะเรื่องไหวพริบในการตอบคำถามหรือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจึงกลายเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญที่นายหน้าอสังหาฯ ควรจะต้องมีติดตัว
ทักษะในเรื่องการจดจำข้อมูลอสังหาฯ
เนื่องจากผู้ที่ประกอบอาชีพนายหน้าอสังหาฯ ส่วนใหญ่ ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะขายอสังหาฯ เพียงแห่งเดียว ดังนั้นคุณจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาข้อมูลของอสังหาฯ ทุกแห่งให้ละเอียด เพื่อตอบคำถามแก่ผู้ซื้อ/ผู้ขาย/ผู้เช่า ได้อย่างชัดเจน
ทักษะการต่อรองราคา
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านายหน้าอสังหาฯ จะต้องพบเจอกับการต่อรองในเรื่องของราคาอย่างแน่นอน 100% ดังนั้นทักษะนี้จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่คุณจะต้องมีติดตัวหากคิดจะประกอบอาชีพนี้
ทักษะในการเข้าสังคม
ซึ่งถ้าคุณไม่มีทักษะในข้อนี้เราขอบอกเลยว่าคุณอาจจะไม่เหมาะกับอาชีพนายหน้าอสังหาฯ เท่าไหร่นัก เนื่องจากคุณจะต้องติดต่อกับผู้คนอยู่เสมอ และถ้ายิ่งคุณมี Connection ในแวดวงอสังหาฯ มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้คุณได้เปรียบในการประกอบอาชีพนี้มากเท่านั้น
กฎหมายที่นายหน้าอสังหาฯ ควรรู้
ข้อกฎหมายเกี่ยวกับอาชีพอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกหนึ่งข้อมูลสำคัญที่ใครอยากจะเป็นนายหน้าอสังหาฯ จะต้องรู้ ซึ่งนั่นก็คือ “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” หรือ ป.พ.พ. บรรพ 3 เอกเทศสัญญาลักษณะ 16 นายหน้า มาตรา 845 - 849 โดยมีรายละเอียดังต่อไปนี้
ป.พ.พ มาตรา 845
“บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดได้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ”
ป.พ.พ มาตรา 846
“ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม”
ป.พ.พ มาตรา 847
“ถ้านายหน้าทำการให้แก่บุคคลภายนอกด้วยก็ดี หรือ ได้รับคำมั่นแต่บุคคลภายนอกเช่นนั้นว่าจะให้ค่าบำเหน็จอันไม่ควรแก่นายหน้าผู้กระทำการโดยสุจริตก็ดี เป็นการฝ่าฝืนต่อการที่ตนเข้ารับทำหน้าที่ไซร้ ท่านว่านายหน้าหามีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จ หรือรับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปไม่”
ป.พ.พ มาตรา 848
“ตัวนายหน้าไม่ต้องรับผิดไปถึงการชำระหนี้ตามสัญญา ซึ่งได้ทำต่อกันเพราะตนเป็นสื่อ เว้นแต่จะมิได้บอกชื่อของฝ่ายหนึ่ง ให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่ง”
ป.พ.พ มาตรา 849
“การรับเงินหรือรับชำระหนี้อันจะพึงชำระตามสัญญานั้นท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า นายหน้าย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับแทน ผู้เป็นคู่สัญญา”
เราสามารถเป็นนายหน้าอสังหาฯ ได้เลยไหม ?
สำหรับคำถามนี้คงจะเป็นคำถามที่หลาย ๆ คน อยากจะรู้ว่าหากเราต้องการเป็นนายหน้าอสังหาฯ เราสามารถเป็นได้ทันทีเลยไหม ? คำตอบก็คือ ได้ แต่คุณอาจจะไม่มีความน่าเชื่อถือมากสักเท่าไหร่นักและอาจจะส่งผลต่อการประกอบอาชีพนี้ เนื่องจากการเป็นนายหน้าอสังหาฯ ที่ดี ควรจะต้องมีบัตรตัวแทนนายหน้าอสังหาฯ จากสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยคุณสามารถเข้าคอร์สอบรมกับสถาบันต่าง ๆ เพื่อนำใบรับรองไปยื่นใช้สมัครสอบขอรับบัตรตัวแทนนายอสังหาฯ ได้ ซึ่งสถาบันที่เปิดอบรมก็มีอยู่มากมาย อาทิเช่น โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย, โรงเรียนเรียลเอสเตท เทรนนิ่ง สคูล ไทยแลนด์, บริษัท เอสเตท คอร์นเนอร์ จำกัด หรือจะอบรมโดยตรงกับทางสถาบันสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทยก็ได้เช่นกัน
ไม่ว่าคุณต้องการที่จะประกอบอาชีพนายหน้าอสังหาฯ เป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม การศึกษาข้อมูลอสังหาฯ การฝึกทักษะต่าง ๆ การศึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมาย หรือแม้แต่การไปสอบบัตรตัวแทนนายหน้าอสังหาฯ ก็ล้วนแล้วแต่จะช่วยทำให้คุณมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในสายอาชีพนี้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และสำหรับนายหน้าอสังหาฯ ที่ต้องการขายหรือปล่อยเช่าคอนโด คุณก็สามารถมาลงประกาศปล่อยคอนโดได้ฟรีที่ Propertyhub เว็บไซต์ที่ผู้คนยุคใหม่ไว้ใจเข้ามาค้นหาคอนโดมากที่สุดแห่งยุค