บ้านที่เงียบสงบ ไม่มีเสียงดังรบกวน ก็คงจะถือได้ว่าเป็นบ้านในฝันของใครหลาย ๆ คน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลาย ๆ คน ก็ต้องฝันสะดุดเพราะมีเสียงที่ไม่ได้รับเชิญดังเล็ดลอดเข้ามาภายในตัวบ้านของเรา ไม่ว่าจะเป็น เสียงเพื่อนข้างบ้าน เสียงรถยนต์ หรือแม้แต่เสียงของสมาชิกภายในบ้านเอง ที่ทำเอาวันหยุดสุดสงบหายวั๊บไปกับตา ครั้นจะย้ายบ้านหรือทุบห้องเพื่อทำห้องเก็บเสียงแบบ Full Option ก็คงจะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างจะสูงอยู่พอสมควร ดังนั้นในบทความนี้เราจึงจะขอนำเทคนิค(ไม่)ลับ กับการทำห้องเก็บเสียงที่บ้าน ที่ขอบอกเลยว่าประหยัด แถมยังเก็บและกันเสียงได้ดีมาฝาก ซึ่งจะมีเทคนิคไหนบ้างนั้น เราไปติดตามพร้อม ๆ กันเลย
เลือกใช้แผ่นฟองน้ำเก็บเสียง
เทคนิคการทำห้องเก็บเสียงที่บ้านที่ง่ายและได้ผลลัพธ์ดีมากที่สุด ก็คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้เลยนอกจากการเลือกใช้แผ่นฟองน้ำเก็บเสียง ซึ่งเทคนิคนี้เป็นเทคนิคและวิธีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะติดตั้งง่าย(เพียงแค่ทากาวหรือฉีดสเปย์กาวไว้ที่ฟองน้ำ แล้วนำไปติดที่ผนังห้องได้เลยทันที) ราคาไม่แรง อายุการใช้งานยาวนาน และที่สำคัญคือสามารถลดเสียงที่จะเข้ามาภายในบ้านไปพร้อม ๆ กับช่วยกันเสียงภายในบ้านไม่ให้ดังออกไปข้างนอก
เลือกวอลเปเปอร์ที่มีความหนามากกว่าปกติ
หากจะให้ทุบผนังบ้านและก่อผนังขึ้นมาใหม่ให้หนากว่าเดิม เพื่อป้องกันไม่ให้มีเสียงดังเข้ามารบกวน ก็คงจะดูทุ่มทุนไปสักหน่อย ดังนั้นเทคนิคทำห้องเก็บเสียงอีกหนึ่งเทคนิคที่เราขอนำเสนอเลยก็คือ การติดวอลเปเปอร์ แต่ต้องเป็นวอลเปเปอร์ที่มีความหนามากกว่าปกติ อาทิ วอลเปเปอร์ที่มีผิวนู้น วอล์เปเปอร์ชนิด PE Foam วอลเปเปอร์แบบ 3D ฯลฯ และนอกเหนือจากความหนาแล้ว ก็อย่าลืมเลือกวอลเปเปอร์ที่มีผิวสัมผัสที่ขรุขระ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติในการดูดซับเสียงที่มากขึ้น
เลือกใช้ผ้าม่านเก็บเสียง
เทคนิคการทำห้องเก็บเสียงในบ้านที่หลาย ๆ คน ยังไม่รู้เลยก็คือ “การเลือกใช้ผ้าม่านเก็บเสียง” ซึ่งผ้าม่านเก็บเสียงในปัจจุบันนี้มีขายอยู่ตามช่องทางต่าง ๆ มากมายและหลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้คุณควรเลือกผ้าม่านเก็บเสียงที่มีเนื้อผ้าหนาหรือเนื้อผ้าที่เป็นใยสังเคราะห์ เนื่องจากเนื้อผ้ามีความหนาแน่นสูง ซึ่งจะส่งผลให้เสียงที่จะเข้า-ออกจากบ้านของคุณลดระดับความดังลง
ทำที่กั้นห้องจากวัสดุที่ช่วยลดระดับความดังของเสียง
สำหรับใครที่มีงบประมาณในการทำห้องเก็บเสียงภายในบ้าน การทำที่กั้นห้องจากวัสดุที่ช่วยลดระดับเสียงก็เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่หลาย ๆ คน เลือกใช้ เพราะได้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยม ทั้งช่วยลดความดังของเสียงที่จะเข้า - ออก จากบ้านของคุณ ทั้งช่วยลดเสียงสะท้อนภายในห้อง ทั้งช่วยทำให้ภาพรวมภายในบ้านดูเป็นสัดเป็นส่วนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งประเภทวัสดุที่จะนำมาทำเป็นฉากกั้นห้องก็มีให้คุณเลือกมากมาย โดยเราได้สรุปออกมาเป็นข้อ ๆ ดังนี้
- วัสดุกันเสียงประเภท Teksound : เนื้อวัสดุไม่ค่อยหนาแต่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถลดระดับความดังของเสียงได้ประมาณ 26 - 28 เดลซิเบล
- วัสดุกันเสียงประเภทไอโซปลาสต์ : เนื้อวัสดุทำจากไม้เนื้ออ่อนพิเศษ เหมาะกับการติดตั้งภายในตัวบ้าน/คอนโด สามารถลดระดับความดังของเสียงได้ประมาณ 27 - 29 เดลซิเบล
- วัสดุกันเสียงประเภท Shumoplast : ผิวเนื้อวัสดุมีความยืดหยุ่นปานกลาง มีความแข็งแรงและทนทาน สามารถลดระดับความดังของเสียงได้ประมาณ 30 - 32 เดลซิเบล
- วัสดุกันเสียงประเภทโฟม : เนื้อวัสดุมีความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพที่สูง สามารถลดระดับความดังของเสียงได้ประมาณ 95 เดลซิเบล
- วัสดุกันเสียงประเภทฉนวนใยหิน : เนื้อวัสดุทนความร้อนได้สูง ติดตั้งง่าย ผู้คนนิยมเลือกใช้ สามารถลดระดับความดังของเสียงได้ประมาณ 95 เดลซิเบล
ใช้ชั้นวางหนังสือ
เทคนิคทำห้องเก็บเสียงแบบง่าย ๆ จนหลาย ๆ คน คิดไม่ถึงเลยก็คือ การใช้ชั้นวางหนังสือ เป็นกำแพงป้องกันเสียงเข้า - ออก โดยเทคนิคนี้เหมาะกับผู้ที่พักอาศัยอยู่ภายในหอพัก คอนโด หรือที่อยู่อาศัยที่ต้องใช้ผนังร่วมกันกับผู้อื่น ซึ่งวิธีการก็คือให้คุณเลื่อนชั้นวางหนังสือไปติดกับผนังให้ได้มากที่สุดและจัดวางหนังสือให้เต็มชั้น เพื่อที่จะให้หนังสือช่วยดูดซับเสียงที่จะดังเข้ามาภายในห้อง ทั้งนี้เทคนิคดังกล่าวอาจจะไม่ได้ทำให้ห้องของคุณเงียบสนิท แต่รับประกันเลยว่าห้องของคุณจะเงียบขึ้นอย่างแน่นอน(หากไม่มีชั้นวางหนังสือ สามารถใช้ตู้เสื้อผ้าแทนได้)
ปิดช่องว่างต่าง ๆ ให้มิดชิด
เทคนิคสุดท้ายสำหรับการทำห้องเก็บเสียงภายในบ้านที่เราได้นำมาฝากในบทความนี้เลยก็คือ “การปิดช่องว่างต่าง ๆ ให้มิดชิด” ซึ่งช่องว่างในที่นี้ก็เช่น ช่องว่างระหว่างประตู ช่องว่างระหว่างพื้นกับผนัง ช่องว่างที่เกิดจากรอยร้าวบนผนัง ฯลฯ โดยเหตุผลที่คุณจำเป็นจะต้องปิดช่องว่างต่าง ๆ ให้มิดชิดก็เพราะว่า เสียงจะสามารถเล็ดลอดผ่านมาตามช่องว่างได้นั่นเอง ดังนั้นคุณจึงจำเป็นที่จะต้องปิดให้หมด
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเทคนิค(ไม่)ลับ กับการทำห้องเก็บเสียงที่บ้าน ที่เราได้นำมาฝาก ซึ่งแต่ละเทคนิคก็ล้วนแล้วแต่เป็นเทคนิคที่หลาย ๆ คน พึงพอใจในผลลัพธ์ และที่สำคัญเลยก็คือทุก ๆ เทคนิคยังสามารถปรับใช้ได้กับผู้ที่พักอาศัยอยู่ภายในคอนโด หอพัก ฯลฯ ได้อีกด้วย และไว้โอกาสหน้าเราจะนำข้อมูลดี ๆ อะไรแบบนี้มาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามได้ที่ Propertyhub Blog บทความที่รวมทุกเรื่องราวของชาวอสังหาฯ