ในปัจจุบันนี้ “การประชุมลูกบ้านคอนโด” ได้กลายเป็นสิ่งที่ชาวคอนโดส่วนใหญ่ให้ความสนใจกันเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้คนเริ่มตระหนักถึงสิทธิที่พวกเขาจะได้รับในฐานะ “เจ้าของร่วม” แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายังมีอีกหลายๆ คน ที่เพิกเฉยและไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการเข้าร่วมประชุมลูกบ้านมากสักเท่าไหร่นัก ซึ่งถ้าหากมองแบบผิวเผินแล้วการไม่เข้าร่วมประชุมลูกบ้านคอนโดอาจจะดูไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่หากลองพิจารณาให้ดีแล้ว เราขอบอกเลยว่าผลเสียของการไม่เข้าประชุมลูกบ้านคอนโดนั้นมีอยู่หลายข้อเลยทีเดียว และจะมีผลเสียหรือข้อเสียอย่างไรบ้างเราไปติดตามพร้อมๆ กันเลยดีกว่า!
ประชุมลูกบ้านคอนโดคืออะไร ?
ก่อนที่เราจะไปรู้ถึงผลเสียของการไม่เข้าร่วมประชุมลูกบ้านคอนโด อันดับแรกเรามาทำความรู้จักกับการประชุมนี้กันก่อนดีกว่า การประชุมลูกบ้านคอนโด คือ การที่ฝ่ายนิติบุคคลประจำโครงการคอนโดและผู้ซื้อ/ผู้ขายห้องชุด(ผู้มีกรรมสิทธิ์) จะเข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบระเบียบข้อบังคับต่างๆ ภายในโครงการคอนโดและรับทราบรายละเอียดในการบริหารงานของฝ่ายนิติบุคคล อาทิเช่น รายงานงบประมาณส่วนกลาง รายงานการบริหารงานในส่วนต่างๆ ฯลฯ รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็น/แจ้งปัญหาที่ฝ่ายลูกบ้านได้พบเจอให้กับทางนิติทราบอย่างเป็นทางการ การออกเสียงเพื่อโหวตแนวทางการแก้ไขปัญหา ฯลฯ ดังนั้นเมื่อมีการประชุมลูกบ้านคอนโดเกิดขึ้น มันจึงเป็นเสมือนโอกาศทองที่ลูกบ้านอย่างเราจะได้แสดงความคิดเห็นและรับทราบถึงการทำงานของฝ่ายนิติบุคคลฯ ว่าสมควรที่จะบริหารงานต่อไปหรือไม่ ?
***สำหรับเจ้าของห้องชุดที่ค้างค่าส่วนกลางคอนโดเกิน 6 เดือน คุณจะถูกห้ามไม่ให้ใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมลูกบ้านคอนโดทุกครั้ง***
ผลเสียของการไม่เข้าประชุมลูกบ้านคอนโด
เสียงบประมาณในการจัดประชุมไปฟรีๆ (เงินส่วนกลางที่คุณจะต้องจ่ายทุกเดือนนั่นแหละ)
ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในโครงการคอนโดจะสะสม ไม่ได้รับการแก้ไข
ไม่รับรู้ข่าวสาร/กฎระเบียบ/ข้อบังคับที่อัพเดตล่าสุด
เสียสิทธิ์ในการออกเสียงอนุมัติ/ไม่อนุมัติ เรื่องที่ส่งผลกระทบต่อตัวคุณโดยตรง อาทิเช่น เรื่องจำนวนที่จอดรถ, เรื่องเวลาเปิด - ปิด พื้นที่ส่วนกลาง, เรื่องการเลี้ยงสัตว์ภายในคอนโด, อัตราค่าส่วนกลางต่อเดือน ฯลฯ
เสียสิทธิในการถอดถอน/ปลด เจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติบุคคลหรือคณะกรรมการที่ทำงานไม่มีคุณภาพ
เสียสิทธิในการตรวจสอบงบประมาณประจำปี/การทำบัญชีของฝ่ายนิติบุคคล ว่ามีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด ?
เสียสิทธิในการอนุมัติงบดุลประจำปี เนื่องจากการอนุมัติงบดุลจะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสามัญเสมอ
หากเราไม่ว่างเข้าร่วมประชุมลูกบ้านคอนโดประจำปี สามารถทำอย่างไรได้บ้าง ?
หากคุณต้องการที่จะเข้าร่วมประชุมลูกบ้านคอนโดประจำปีจริงๆ แต่! ดันไม่ว่างพอดี คุณก็ไม่ต้องเป็นกังวลใจไป เพราะคุณสามารถมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าร่วมประชุมได้ โดยคุณจะต้องปฏิบัติตามรายละเอียดดังต่อไปนี้...
ทำหนังสือมอบฉันทะ
ผู้รับมอบจะรับมอบฉันทะแทนคนอื่นเกิน 3 ห้องชุดไม่ได้
ห้ามแต่งตั้งกรรมการ(และคู่สมรส), ผู้จัดการ(และคู่สมรส), พนักงานหรือลูกจ้างของนิติบุคคลอาคารชุดโครงการคอนโดนั้นๆ อย่างเด็ดขาด(เป็นข้อกฎหมายกำหนด)
รู้หรือไม่ ? การนับคะแนนเสียงไม่ได้นับตามยูนิตห้อง
สำหรับใครที่คิดว่าการลงคะแนนเสียงในการประชุมลูกบ้านคอนโดจะนับเป็นจำนวนยูนิต เราขอบอกเลยว่าคุณคิดผิด! เพราะในความเป็นจริงแล้ว เขามักจะนับกันที่ขนาดของยูนิต อาทิเช่น คุณ A เป็นเจ้าของห้องชุดจำนวน 2 ยูนิต ยูนิตละ 25 ตร.ม. รวมเป็น 50 ตร.ม. แต่คุณ B เป็นเจ้าของห้องชุดจำนวน 1 ยูนิต แต่มีขนาด 65 ตร.ม. ก็จะเท่ากับว่า คุณ B จะมีคะแนนเสียงที่มากกว่าคุณ A เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ทางโครงการคอนโดจะกำหนดอัตราเต็มเป็น 10,000 ส่วน ซึ่งแต่ละห้องจะมีสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป เช่น 15.11, 25.74, 30.12 ... ซึ่งถ้ารวมทุกยูนิตแล้วจะครบ 10,000 ส่วน พอดีเป๊ะ!
การประชุมลูกบ้านคอนโดถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ชาวคอนโดอย่างเราควรให้ความสำคัญและเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อรักษาสิทธิในฐานะเจ้าของร่วม และแสดงจุดยืนว่าทางฝ่ายนิติบุคคลควรจะบริหารงานไปในทิศทางใด มีจุดตรงไหนที่ควรแก้ไขหรือปรับเปลี่ยน! และในการประชุมลูกบ้านคอนโดในครั้งหน้าหากใครที่ยังไม่เคยเข้าประชุมสักครั้ง เราก็ขอให้คุณลองเข้าประชุมดู แล้วคุณจะรู้เลยว่าการประชุมฯ นั้นไม่ได้น่าเบื่อและมีประโยชน์ต่อคุณรวมไปถึงลูกบ้านทุกคนอย่างแท้จริง!
ส่วนใครที่กำลังมองหาโครงการคอนโดทำเลสวยหรือโครงการคอนโดที่กำลังสนใจ คุณก็สามารถเข้าไปเลือกชมโครงการคอนโดกว่า 4,000 โครงการได้ที่ Propertyhub เว็บไซต์ค้นหาโครงการคอนโดที่มาแรงมากที่สุดแห่งยุค!