หากมีการทำธุรกรรมซื้อ - ขายที่ดิน แน่นอนว่าคุณจะต้องเคยได้ยินคำว่า “การรังวัดที่ดิน” ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง ซึ่งการรังวัดที่ดินนั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่จะต้องตรวจสอบให้ละเอียดและมีความสำคัญไม่แพ้กับโฉนดที่ดินเลยแม้แต่น้อย เพราะถ้าหากไม่ตรวจสอบและเกิดปัญหารังวัดที่ดินไม่ตรงกับโฉนดขึ้นมา นั่นก็จะเท่ากับว่าการซื้อ - ขายที่ดินจะต้องมีปัญหาตามมาแน่ ๆ แต่สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่ารังวัดที่ดินคืออะไร ? ต้องทำยื่นเรื่องหรือใช้เอกสารอะไรบ้าง ? ฯลฯ วันนี้ทีมงาน Propertyhub ก็ได้รวบรวมรายละเอียดที่สำคัญเกี่ยวกับรังวัดที่ดินแบบฉบับสมบูรณ์มาฝากให้คุณได้ศึกษากัน
รังวัดที่ดิน คืออะไร ?
การรังวัดที่ดิน คือ การให้เจ้าหน้าที่จากกรมที่ดินมาทำการตรวจสอบหลักเขต และทำการรังวัดปักแนวเขตที่ดินเพื่อให้ทราบถึงที่ตั้งแนวเขตที่ดิน ที่ตั้งของที่ดิน และเนื้อที่ของที่ดินที่แน่นอนของที่ดินผืนนั้น ๆ ปกติแล้วเจ้าของที่ดินควรทำทุก 10 ปี เพราะเมื่อเวลาผ่านไปหมุดที่ดินอาจจะหายหรือหาไม่เจอ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหารังวัดที่ดินไม่ตรงกับโฉนดทำให้ต้องสูญเสียที่ดินบางส่วนไป รวมไปถึงยังป้องกันการแอบอ้างครอบครองปรปักษ์จากบุคคลอื่นด้วย
การรังวัดที่ดินออนไลน์ คืออะไร ?
การรังวัดที่ดินออนไลน์ คือ บริการจองคิวสำหรับรังวัดที่ดินออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน “e-QLands” ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยกรมที่ดิน ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริการที่จะเข้ามาช่วยให้ผู้ขอยื่นรังวัดที่ดินสามารถจองคิวได้อย่างสะดวกสบายผ่านทางออนไลน์ โดยไม่ต้องเดินทางไปยังกรมที่ดินให้เสียเวลา รวมไปถึงยังสามารถจองคิวโอนที่ดินออนไลน์ได้อีกด้วย และในปัจจุบันนี้แอปพลิเคชัน e-QLands ได้ให้บริการเฉพาะสำนักงานที่ดินในกรุงเทพมหานคร 17 แห่ง ประกอบไปด้วย...
- สาขากรุงเทพมหานคร
- สาขาบางเขน
- สาขาพระโขนง
- สาขาบางกะปิ
- สาขามีนบุรี
- สาขาบางขุนเทียน
- สาขาบางกอกน้อย
- สาขาธนบุรี
- สาขาห้วยขวาง
- สาขาหนองแขม
- สาขาลาดพร้าว
- สาขาดอนเมือง
- สาขาประเวศ
- สาขาบึงกุ่ม
- สาขาหนองจอก
- สาขาลาดกระบัง
- สาขาจตุจักร
รังวัดที่ดิน มีความสำคัญอย่างไร ?
รังวัดที่ดินมีความสำคัญอย่างมากในการกำหนดขอบเขตและพื้นที่ของที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการรังวัดที่ดินยังช่วยป้องกันข้อขัดแย้งระหว่างเจ้าของที่ดินที่ติดกัน ทำให้สามารถจัดทำเอกสารสิทธิ์ที่ดินได้อย่างถูกต้อง และใช้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนในการซื้อ - ขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้เราก็ได้สรุปความสำคัญของรังวัดที่ดินออกมาเป็นข้อ ๆ เพื่อให้คุณได้มองเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นดังนี้
- ป้องกันการแอบอ้างการครองปรปักษ์ที่ดินและตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของที่ดิน
- ป้องกันการโดนแย่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การรุกล้ำที่ดินจากบุคคลอื่น
- ป้องกันการรังวัดที่ดินไม่ตรงโฉนด
- ป้องกันการเหลื่อมล้ำที่ดินจากพื้นที่สาธารณะประโยชน์ โดยเฉพาะพื้นที่ธรรมชาติ เช่น คลอง ลำธาร ห้วย ซึ่งอาจกัดเซาะพื้นที่ดินไปตามกาลเวลาโดยที่เจ้าของที่ดินไม่รู้ตัว
- เพื่อให้ทราบถึงแนวเขตที่ดินที่ได้ครอบครองใหม่อย่างถูกต้อง
ประเภทของรังวัดที่ดิน
การรังวัดที่ดินจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ซึ่งจะแบ่งตามการยื่นคำขอในการรังวัดที่ดิน โดยแต่ละประเภทมีรายละเอียดสำคัญดังนี้
1. การรังวัดแบ่งแยก
หากเจ้าของที่ดินต้องการแบ่งที่ดินผืนใหญ่ออกเป็นหลาย ๆ แปลง ไม่ว่าจะด้วยการแบ่งขาย แบ่งเพื่อมอบเป็นมรดก ฯลฯ เจ้าของที่ดินจะต้องมายื่นคำร้องขอรังวัดที่ดินกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดินใหม่ และทำการออกโฉนดที่ดินของแปลงที่แบ่งแยกใหม่ให้แก่เจ้าของที่ดินเพิ่มเติมด้วย
2. การรังวัดรวมโฉนด
หากเจ้าของที่ดินทำการซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงที่ดินผืนเดิมแล้วต้องการรวมโฉนดใหม่ฉบับเดียว เจ้าของที่ดินจะต้องมายื่นคำร้องขอรังวัดที่ดินกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดินใหม่ และทำการออกโฉนดที่ดินแบบรวมใหม่ให้แก่เจ้าของที่ดินเพิ่มเติม
3. การรังวัดสอบเขต
หากเจ้าของที่ดินต้องการทราบเนื้อที่ทั้งหมดว่าตรงกันกับในโฉนดหรือไม่ และมีสภาพที่ดินที่แท้จริงในขนาดกี่ไร่ กี่งาน หรือกี่ตารางวา รวมถึงหากมีกรณีสูญหายของหมุดปักบอกอาณาเขต เจ้าของที่ดินจะต้องมายื่นคำร้องขอรังวัดที่ดินกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดินเพื่อดำเนินการรังวัดและปักหลักหมุดให้ใหม่หากหลักหมุดเดิมหาย และแก้ไขเลขหมายหลักหมุดรวมถึงแนวอาณาเขตของที่ดินลงในโฉนดใหม่ให้ถูกต้อง
ยื่นขอรังวัดที่ดินได้ที่ไหน ?
การยื่นขอรังวัดที่ดินสามารถทำได้ 3 ที่ด้วยกัน ประกอบไปด้วย
- สำนักงานที่ดินจังหวัด
- สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา
- สำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่
หรือสามารถจองคิวรังวัดที่ดินออนไลน์ผ่านทางแอปพลิเคชัน e-QLands (ได้เฉพาะ 17 พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ที่เราได้กล่าวไปเมื่อข้างต้น)
เอกสารประกอบการขอรังวัดที่ดิน
เอกสารสำคัญที่ต้องมีเพื่อประกอบการรังวัดที่ดิน ที่เจ้าของที่ดินจะต้องเตรียมให้พร้อมมีรายละเอียดดังนี้
เอกสารส่วนตัวของเจ้าของที่ดิน
- บัตรประจำตัวประชาชน
- เอกสารทะเบียนบ้าน
- เอกสารทะเบียนสมรส (ถ้ามี)
- หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัวชื่อสกุล (ถ้ามี)
เอกสารหลักฐานประกอบการขอรังวัดรวมโฉนดที่ดิน
- โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
- หลักฐานประกอบการขอรังวัดรวมโฉนดที่ดิน
- โฉนดที่ดินที่จะขอรวม ต้องมีลักษณะดังนี้
- ต้องเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทเดียวกันทั้งหมด ยกเว้นโฉนดแผนที่ กับโฉนดที่ดินให้สามารถใช้รวมกันได้
- ต้องมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดที่ดินเหมือนกันทุกฉบับและต้องยังมีชีวิตอยู่ทุกคน
- ต้องเป็นที่ดินติดต่อผืนเดียวกัน ตั้งอยู่ในจังหวัดและสำนักงานที่ดินเดียวกันเท่านั้น
ขั้นตอนการขอรังวัดที่ดิน
สำหรับขั้นการขอรังวัดที่ดินทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ การขอรังวัดที่ดินแบบแบ่งแยก การขอรังวัดที่ดินรวมและการรังวัดเพื่อสอบเขตที่ดินนั้น จะมีขั้นตอนที่คล้าย ๆ กันดังนี้
- ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาหรือสำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่แล้วขอรับบัตรคิวจากประชาสัมพันธ์
- เจ้าของที่ดินรับคำขอสอบสวนและชำระเงินค่าธรรมเนียมคำขอ
- เจ้าของที่ดินส่งเอกสารหลักฐานให้ฝ่ายรังวัดดำเนินการ นัดวันที่จะรังวัด กำหนดตัวช่างรังวัด กำหนดเงินมัดจำรังวัด
- ค้นหารายชื่อเจ้าของที่ดินข้างเคียงและพิมพ์หนังสือแจ้งเจ้าของที่ดินข้างเคียง
- รับหนังสือแจ้งที่ดินข้างเคียง วางเงินมัดจำรังวัดและรับหลักเขตที่ดิน
- ช่างรังวัดออกไปทำการรังวัดตามวันและเวลาที่นัดไว้
- คำนวณเนื้อที่และเขียนรูปแผนที่ในโฉนดที่ดิน
- ส่งเรื่องรังวัดคืนฝ่ายทะเบียน จากนั้นเรียกผู้ขอรังวัดมาจดทะเบียน
- สอบสวนจดทะเบียนแบ่งแยก
- ตรวจอายัด
- ชำระเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนและค่าโฉนด
- แก้รายการทะเบียนและจดทะเบียนแบ่งแยก
- สร้างโฉนดที่ดินแปลงแบ่งแยก (กรณีรังวัดแบ่งแยกที่ดิน)
- เสนอเจ้าพนักงานที่ดินลงนามและประทับตรา
- แจกโฉนดที่ดินแปลงแบ่งแยก (กรณีรังวัดแบ่งแยกที่ดิน)
การคิดค่าใช้จ่ายรังวัดที่ดิน
สำหรับค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่ดิน ผู้ขอหรือเจ้าของที่ดินจะต้องชำระตามกฎหมายกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 และ 48 ออกตามความในพระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497
ค่าธรรมเนียมรังวัด
- โฉนดที่ดิน คิดเป็นต่อแปลง/วัน/ละ 40 บาท
- หนังสือรับรองการทำประโยชน์ คิดเป็นต่อแปลง/วัน/ละ 30 บาท
ค่าหลักเขตที่ดิน
- คิดค่าหลักเขตละ 15 บาท (จะคิดตามจำนวนที่ใช้จริง)
ค่าใช้จ่ายในการรังวัดลักษณะของการเหมาจ่าย
- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าส่งจดหมายข้างเคียงทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ 200 บาท
- ค่าป่วยการเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
- ค่าพาหนะพนักงานเจ้าหน้าที่และคนงานรังวัด คิดเหมาจ่ายวันละไม่เกิน 1,600 บาท
- ค่าคนงานรังวัด คิดเป็นต่อคน/วัน 420 บาท (ค่าธรรมเนียมตามเขตจังหวัดที่กระทรวงการคลังกำหนด)
สำหรับการกำหนดวันทำการรังวัดตามค่าพาหนะพนักงานเจ้าหน้าที่และคนงานรังวัด และค่าคนงานรังวัด ค่าธรรมเนียมเหมาจ่ายแบบกำหนดตามจำนวนเนื้อที่ มีรายละเอียดดังนี้
การรังวัดเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน
- ที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน 5 ไร่ เวลาทำการ 1 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน 3,480 บาท
- ที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน 15 ไร่ เวลาทำการ 2 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน 6,760 บาท
- ที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน 30 ไร่ เวลาทำการ 3 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน 10,040 บาท
- ที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ เวลาทำการ 4 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน 13,320 บาท
การรังวัดเกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์
- เนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ เวลาทำการ 1 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน 2,640 บาท
- เนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ เวลาทำการ 2 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน 5,080 บาท
ค่าธรรมเนียมในการรังวัดที่ดิน
สำหรับค่าธรรมเนียมในการรังวัดที่ดิน เจ้าของที่ดินจะต้องเป็นฝ่ายชำระทั้งหมด โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรังวัดหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดิน
- สำหรับที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 30 บาท
- สำหรับที่ดินเนื้อที่เกิน 20 ไร่ ส่วนที่เกิน (เศษเกินของจำนวนไร่ให้คิดเป็นหนึ่งไร่) คิดค่าธรรมเนียมไร่ละ 2 บาท
ค่าธรรมเนียมการตรวจสอบเนื้อที่เกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์
- กรณีคิดเป็นรายแปลง คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 30 บาท
- กรณีคิดเป็นรายวัน คิดค่าธรรมเนียมวันละ 30 บาท
- ค่าจำลองแผนที่ คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 30 บาท
- ค่าคำนวณเนื้อที่ คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 30 บาท
- ค่าจับระยะ คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 10 บาท
ค่าธรรมเนียมออกโฉนดที่ดิน
- ที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 50 บาท
- ที่ดินเนื้อที่เกิน 20 ไร่ ส่วนที่เกิน (เศษของไร่ให้คิดเป็นหนึ่งไร่) คิดค่าธรรมเนียมไร่ละ 2 บาท
ค่าธรรมเนียมรังวัดเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน
- กรณีเรียกเก็บเป็นรายแปลง คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 40 บาท
- กรณีเรียกเก็บเป็นรายวัน คิดค่าธรรมเนียมวันละ 40 บาท
- ค่าจำลองแผนที่ คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 30 บาท
- ค่าคำนวณเนื้อที่ คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 30 บาท
- ค่าจับระยะ แปลงละ 10 บาท
ค่าธรรมเนียมเบ็ดเตล็ด
- ค่าคำขอ คิดแปลงละ 5 บาท
- ค่ามอบอำนาจ คิดเรื่องละ 20 บาท
- ค่าปิดประกาศ คิดแปลงละ 10 บาท
- ค่าพยานให้แก่พยาน คิดคนละ 10 บาท
- ค่าหลักเขต คิดหลักละ 15 บาท
ค่าใช้จ่ายการรังวัดที่เกี่ยวกับโฉนดที่ดินหรือการตรวจสอบเนื้อที่เกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์
- ค่าพาหนะเดินทางให้แก่เจ้าพนักงาน พนักงานเจ้าหน้าที่และคนงานจ้างเพื่อไปทำการรังวัดหรือวันละไม่เกิน 1,600 บาท
- ค่าเบี้ยเลี้ยงให้แก่เจ้าพนักงาน พนักงานเจ้าหน้าที่และค่าจ้างคนงานที่จ้างไปทำการรังวัด ให้จ่ายในลักษณะเหมาจ่ายในระเบียบกระทรวงมหาดไทย ด้วยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
- ค่าป่วยการให้แก่เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ หรือผู้แทนที่ไปในการรังวัด ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงมหาดไทย ด้วยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง วันละ 50 บาท
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการรังวัดให้จ่ายในลักษณะเหมาจ่ายตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยด้วยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง เรื่องละ 100 บาท
ข้อมูลที่น่ารู้ในวันที่ทำการรังวัดที่ดิน
- หากกรณีที่ดินมีเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ ทุก ๆ 50 ไร่ หรือมีเศษเกินกว่า 25 ไร่ ให้เพิ่มวันทำการรังวัดอีก 1 วัน
- กรณีที่ดินที่ต้องทำการรังวัดตั้งอยู่ในพื้นที่องค์กรปกครองพิเศษ เช่น กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาลนคร เทศบาลเมืองหรือพื้นที่สวนไม้ยืนต้นให้เพิ่มวันทำการรังวัดอีก 1 วัน
- หากกรณีทำการรังวัดต้องคำนวณจำกัดเนื้อที่ ให้เพิ่มวันทำการรังวัดอีก 1 วัน
- กรณีการรังวัดที่ดินแล้วมีที่ดินข้างเคียงหลายแปลงทุก ๆ ข้างเคียง 30 แปลงหรือเศษจำนวนเกินกว่า 15 แปลง ให้เพิ่มวันทำการรังวัดอีก 1 วัน
- กรณีการรังวัดแบ่งแยกจัดสรรทุก ๆ 8 แปลงหรือมีจำนวนเศษเกินกว่า 4 แปลง ให้เพิ่มวันทำการรังวัดอีก 1 วัน
- กรณีมีที่ดินเนื้อที่เกิน 50 ไร่ มีเศษเกิน 25 ไร่และที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่ปกครองพิเศษหรือพื้นที่สวนไม้ยืนต้น ให้เพิ่มวันทำการรังวัดได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งเท่านั้น
รายละเอียดทั้งหมดที่เราได้กล่าวไปข้างต้น คงจะทำให้คุณรู้แล้วว่าการรังวัดที่ดิน คืออะไร ? มีความสำคัญอย่างไร ? ต้องเตรียมเอกสารและค่าใช้จ่ายในการยื่นเรื่องของรังวัดอย่างไรบ้าง ? และไว้โอกาสหน้าทีมงาน Propertyhub จะนำข้อมูลดี ๆ อะไรมาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามได้ที่ Propertyhub Blog บทความที่รวบรวมทุกเรื่องราวเกี่ยวกับอสังหาฯ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.kasikornbank.com