การเลี้ยงปลาคราฟถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่จะช่วยสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้เลี้ยงและยังจะช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของบ้านดูสวยงามมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงตามความเชื่อยังว่ากันว่า...การเลี้ยงปลาคราฟจะช่วยเสริมฮวงจุ้ยให้มีแต่สิ่งดี ๆ เข้ามาในบ้านอีกด้วย แต่การจะเลี้ยงปลาคราฟนั้นมีความจำเป็นที่คุณจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นมือใหม่หัดเลี้ยง ซึ่งในบทความนี้ก็จะเป็นคู่มือสำหรับผู้เริ่มต้นในการเลี้ยงปลาคราฟ เพื่อให้สามารถเลี้ยงปลาคราฟได้อย่างถูกต้องตามหลัก
1. ทำความรู้จักกับปลาคราฟ
ปลาคราฟ เป็นปลาน้ำจืด จัดอยู่ในกลุ่มปลาตะเพียน (Carp) ซึ่งชาวญี่ปุ่นนิยมเรียกกันว่า "โค่ย (Koi)" หรือ "นิชิกิกอย (Nichikigoi)" โดยคำว่า “Nishiki” แปลว่า ผ้าไหมที่มีลวดลายสวยงาม ส่วนคำว่า “Goi” แปลว่า ปลา โดยปลาคราฟเป็นปลาสวยงามชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะมีสีสันสวยงามและตามความเชื่อก็ได้บอกเอาไว้ว่าการเลี้ยงปลาคราฟจะช่วยเสริมฮวงจุ้ยให้ผู้เลี้ยงมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง มีเงินมีทองไม่ขาดมือ ทั้งนี้ปลาคราฟยังเป็นปลาที่มีอายุค่อนข้างจะยาวนาน โดยปลาคราฟที่ชื่อ "ฮานาโกะ" ของนายแพทย์ผู้หนึ่งที่เลี้ยงไว้ที่เมืองกูฟี ประเทศญี่ปุ่น มีอายุยืนถึง 266 ปี เลยทีเดียว
2. การเตรียมบ่อปลาคราฟ
2.1 การเลือกทำเลสร้างบ่อ
คุณธิตินันท์ ขวัญสด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความรู้ไว้ว่าที่ตั้งของบ่อปลาคาร์ฟควรจะมีอากาศถ่ายเทได้ดี ในช่วงเช้าและช่วงเย็นควรจะมีแสงแดดส่องถึงไม่น้อยกว่า 3-4 ชั่วโมง ถ้าเป็นสถานที่โล่งแจ้งก็ควรทำหลังคาหรือร่มเงา เพื่อไม่ให้บ่อปลาโดนแสงแดดในเวลากลางวันมาก แต่ทั้งนี้การสร้างบ่อลงไปในพื้นดินจะเป็นการดี เพราะปลาคาร์ฟชอบอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส ซึ่งในพื้นดินอุณหภูมิของน้ำในบ่อจะเปลี่ยนแปลงช้าและมีอุณหภูมิต่ำกว่าบ่อบนดิน แล้วเพื่อป้องกันน้ำท่วมเวลาฝนตกก็ควรจะทำปากบ่อให้มีความสูงกว่าพื้นดินอย่างน้อย 20 เซนติเมตร
2.2 วัสดุที่ใช้ในการสร้างบ่อ
วัสดุที่เหมาะสมควรจะเป็นซีเมนต์ เนื่องจากสามารถดัดแปลงเป็นบ่อธรรมชาติได้ง่าย มีความแข็งแรงทนทาน โดยผนังบ่อควรฉาบเรียบ เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลขณะที่ปลาว่ายไปชนผนัง นอกจากนี้ อุณหภูมิของน้ำในบ่อซีเมนต์จะมีการเปลี่ยนแปลงช้าแถมยังเกิดตะไคร่น้ำได้เร็ว ซึ่งตะไคร่น้ำนี้สามารถเป็นอาหารของปลาและยังดูดสิ่งสกปรกกับแอมโมเนียในน้ำได้ด้วย
2.3 ขนาดและรูปร่างของบ่อ
ควรจะมีขนาดที่พอเหมาะสามารถดูแลได้ง่ายและจุน้ำได้ไม่เกิน 50 ตัน ส่วนเรื่องรูปร่างของบ่อก็มีหลายลักษณะให้เลือก เช่น รูปไข่ รูปสี่เหลี่ยม รูปวงกลม หรือจัดตามเนื้อที่ที่มีอยู่ก็ได้ แต่ถ้าเลือกบ่อรูปสี่เหลี่ยมก็ไม่ควรจะสร้างให้มีมุมภายในบ่อ เพราะจะทำให้เกิดการต้านกระแสน้ำจึงควรปรับให้มีลักษณะมนโค้ง เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก แล้วในบ่อก็ปล่อยโล่ง ไม่ให้มีสิ่งใดกีดขวางการว่ายน้ำของปลา พื้นที่ก้นบ่อควรจะลาดเอียงลงจุดศูนย์กลางของบ่อทำมุมประมาณ 20-30 องศา สำหรับให้ตะกอนสิ่งสกปรกตกลงไปที่ศูนย์กลางบ่อ ซึ่งจะมีช่องระบายน้ำเสียไปยังบ่อพักน้ำเสียอีกบ่อหนึ่ง
2.4 ความลึกของบ่อ
ความลึกที่เหมาะสมของบ่อเลี้ยงปลาคาร์ฟคือ 100-200 เซนติเมตร และระดับน้ำในบ่อก็ควรจะต่ำกว่าขอบบ่อราว 20-30 เซนติเมตร เหตุที่ควรจัดระดับความลึกเท่านี้ก็เพราะ หากน้ำลึกมากไปจะทำให้มองเห็นปลาไม่ชัด แล้วถ้าระดับน้ำตื้นเกิน ปลาจะมีอาการตื่นตกใจ กินอาหารน้อย จนเกิดปัญหาต่อการเจริญเติบโตได้ และยังทำให้อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงง่ายอีกด้วย
2.5 แสงสว่างของบ่อ
การเลี้ยงปลาคาร์ฟบ่อควรจะมีแสงสว่าง แต่ต้องไม่ให้แสงแดดส่องตรง ถ้าเป็นบ่อกลางแจ้งควรมีหลังคากันแดดหรือให้แดดส่องได้เพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่หากจุดที่ตั้งบ่อมีร่มเงาจากต้นไม้หรือชายคาบ้านที่สามารถกันแสงแดดได้บางเวลาอาจไม่จำเป็นต้องสร้างหลังคาก็ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะแสงแดดที่ส่องลงบ่อมากเกินไปจะทำให้แพลงค์ตอนเจริญอย่างรวดเร็ว แล้วน้ำจะมีสีเขียวขุ่น ไม่ใส ทำให้มองตัวปลาได้ไม่ชัดและบ่อไม่สวยงาม
6. อุปกรณ์อื่น ๆ
ในการเลี้ยงปลาคาร์ฟยังมีอุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีความจำเป็น เช่น
- บ่อพักหรือถังพักน้ำ เพื่อสำหรับเก็บน้ำดีที่เป็นน้ำใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นน้ำประปาหรือน้ำบาดาลก็ได้
- บ่อตกตะกอน เพื่อเป็นที่เก็บน้ำเสียจากบ่อเลี้ยงปลา โดยการทำท่อต่อจากบ่อเลี้ยง ให้น้ำเสียผ่านช่องที่จุดศูนย์กลางบ่อ บ่อตกตะกอนมีประโยชน์มาก เพราะน้ำจากบ่อนี้จะถูกสูบไปยังเครื่องกรองและผสมกับน้ำดี แล้วนำไปใช้ในบ่อเลี้ยงได้อีก ขนาดของบ่อตกตะกอนควรจะมีปริมาตรจุน้ำได้ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาตรน้ำในบ่อเลี้ยง
- บ่อหรือถังกรองน้ำ บ่อเลี้ยงปลาคาร์ฟนั้นน้ำในบ่อควรจะใสสะอาด เพื่อจะได้เห็นความสวยงามของตัวปลาดังนั้นการกรองน้ำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งเป็นการทำให้น้ำใสสะอาด กำจัดของเสียที่ปลาขับถ่าย กำจัดเศษอาหาร และกรองตะกอนกับแพลงค์ตอนที่ลอยในน้ำ
- ระบบการหมุนเวียนของน้ำ ควรจะมีการติดตั้งระบบหมุนเวียนของน้ำ หรือเครื่องพ่นน้ำ เพื่อเป็นการเพิ่มการหมุนเวียนที่ดีและเพิ่มออกซิเจน ทำให้น้ำในบ่อมีการถ่ายเทตลอดเวลาและดีกับปลาด้วย เพราะได้รับออกซิเจนที่เพียงพอเสมอ
- กระแสน้ำ การทำกระแสน้ำในบ่อ ทำได้โดยการปล่อยน้ำผ่านเครื่องกรองน้ำลงบ่อและผ่านท่อขนาดเล็ก เพื่อให้กระแสน้ำแรงขึ้น แล้วควรจะมีการเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำบ่อยๆ จะเป็นการดีต่อความปกติของรูปร่างปลา
- การเพิ่มออกซิเจน มีวิธีการเพิ่มออกซิเจนในบ่ออยู่ 2 วิธี คือ วิธีแรก ก่อนจะให้น้ำไหลผ่านเครื่องกรองลงสู่บ่อก็ควรให้น้ำได้รับออกซิเจนก่อน วิธีที่สอง ให้ติดตั้งเครื่องเพิ่มออกซิเจน หรือเครื่องพ่นน้ำในบ่อ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Kaset Today
3. สายพันธุ์ของปลาคราฟที่ควรรู้
- โคฮากุ(Kohoku) เป็นปลาคราฟที่มีลายสีขาวและสีแดง(ได้รับความนิยมมากที่สุด) ซึ่งลักษณะที่ดีสีแดงจะต้องคมชัดสม่ำเสมอและสีขาวไม่ควรมีตำหนิใด ๆ
- ไทโช ซันเก้ (Taisho Sanke) ประกอบ ด้วย 3 สีด้วยกัน คือ ขาว แดง และดำ ซึ่งสีดำบนตัวปลานั้นควรเป็นดำสนิทและดวงใหญ่ แต่ไม่ควรมีสีดำบนส่วนหัว รวมทั้งไม่มีสีแดงบนครีบและหาง
- โชวา ซันโชกุ (Showa Sanshoku) เป็นสายพันธุ์ที่มี 3 สี สีขาวและสีแดงจะอยู่รวมตัวบนพื้นสีดำขนาดใหญ่ บริเวณเชื่อมต่อครีบจะมีสีดำ และลักษณะลำตัวจะเป็นรูปตัว Y
- อุซึริ โมโน (Utsuri Mono) เป็นสายพันธุ์ที่มีสีดำพาดบนพื้นสีอื่น ซึ่งสีดำที่ปรากฏจะมีลักษณะเป็นปื้นยาวพาดบนตัวปลา
- เบคโกะ (Bekko) เป็นสายพันธุ์ที่มีสี 2 สี โดยจะมีลวดลายเป็นจุดสีดำขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไปอยู่บนพื้นสีต่าง ๆ ของตัวปลา
- อาซากิ ชูซุย (Asagi Shusui) เป็นสายพันธุ์สายตรงที่มาจากปลาไน มีเกล็ดสีฟ้าเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบและสวยงาม
- โคโรโม (Koromo) เป็นสายพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างสายพันธุ์อาซากิกับสายพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งลวดลายบนตัวจะมีเกล็ดสีน้ำเงินกระจายเด่นอยู่
- ชิโร อุชึริ (Shiro Utsuri) เป็นสายพันธุ์ที่มีแถบลายสีดำคาดคลุมจากหลังลงไปถึงส่วนท้อง
- ฮิการิ โมโยโมโน (Hikari Moyomono) เป็นสายพันธุ์ที่มี 2 สี หรือมากกว่า โดยจะมีหนึ่งสีที่มีความแวววาวคล้ายโลหะ
- ฮิการิ อุซึริโมโน (Hikari Utsurimono) เป็นสายพันธุ์ที่มีลวดลายพาดสีดำบนพื้นลำตัวที่มีความแวววาว
- คินกินริน (Kinginrin) เป็นสายพันธุ์ในกลุ่มที่มีประกายเงินหรือทองบนเกล็ด และเกล็ดจะมีลักษณะนูนคล้ายไข่มุก
- ตันโจ (Tancho) เป็นสายพันธุ์ที่มีสีแดงเพียงสีเดียวอยู่บนส่วนหัว โดยจะเป็นรูปทรงกลมขนาดใหญ่หรืออาจจะเป็นรูปทรงอื่น
- คาวาริ โมโน (Kawari Mono) เป็นสายพันธุ์ที่ไม่มีลวดลายตายตัว ซึ่งต่างจากสายพันธุ์อื่นที่จะมีลวดลายใหม่เกิดขึ้นตลอด
4. การเลือกซื้อปลาคราฟ
- อายุปลาคราฟ : ควรเลือกปลาคราฟที่ยังเป็นลูกปลา มีอายุ 1-2 ปี ไม่ควรเลือกปลาที่มีขนาดใหญ่จนเกินไป ยกเว้นเลือกปลาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่จะนำไปขยายพันธุ์ ควรเลือกปลาที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป
- ลำตัวสมดุลและสมส่วน : ปลาคราฟที่ดีควรมีลำตัวที่สมดุลและสมส่วน ไม่ควรมีลำตัวที่บิดเบี้ยวหรือผิดรูป ความสมดุลของลำตัวเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ปลาว่ายน้ำได้อย่างสวยงาม
- เกล็ดเรียบเนียนและเงางาม : เกล็ดของปลาคราฟควรเรียบเนียนและเงางาม ไม่ควรมีรอยแผลหรือเกล็ดที่หายไป การมีเกล็ดที่เรียบเนียนเป็นเครื่องหมายของสุขภาพที่ดี
- ครีบสมบูรณ์ : ครีบของปลาคราฟควรสมบูรณ์และไม่มีรอยขาดหรือบิดเบี้ยว ครีบที่สมบูรณ์จะช่วยให้ปลาว่ายน้ำได้อย่างสง่างาม
- สีสดใสและสม่ำเสมอ : ปลาคราฟที่ดีควรมีสีสันที่สดใสและสม่ำเสมอทั่วทั้งลำตัว สีควรมีความชัดเจนและไม่มีจุดสีที่ผิดปกติ
- ลวดลายชัดเจน : ลวดลายบนลำตัวของปลาคราฟควรมีความชัดเจนและมีการจัดเรียงที่สมดุล
- การหายใจปกติ : ปลาคราฟที่ดีควรมีการหายใจที่เป็นปกติ ไม่หายใจหอบหรือหายใจเร็วเกินไป
- พฤติกรรมการว่ายน้ำ : ปลาคราฟที่มีสุขภาพดีจะว่ายน้ำอย่างกระฉับกระเฉงและตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างได้ดี ปลาที่ว่ายน้ำช้าหรืออยู่ในมุมตู้โดยไม่เคลื่อนไหวอาจมีปัญหาสุขภาพ และไม่แยกตัวสันโดษกับปลาตัวอื่น ๆ
- ไม่มีโรคติดเชื้อ : ควรตรวจสอบว่าปลาไม่มีอาการของโรคติดเชื้อ เช่น จุดขาว การบวม หรือลักษณะที่ผิดปกติอื่น ๆ
- ความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์ : ปลาคราฟที่ดีควรเป็นปลาที่มีสายพันธุ์บริสุทธิ์และไม่มีการผสมพันธุ์ที่ผิดปกติ การเลือกสายพันธุ์ที่บริสุทธิ์จะช่วยให้ปลามีลักษณะที่ดีและสวยงามตามลักษณะของสายพันธุ์นั้น ๆ
- ซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ : การซื้อปลาคราฟจากฟาร์มหรือร้านที่มีความน่าเชื่อถือและมีชื่อเสียงจะช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าปลาที่คุณเลือกมีคุณภาพดี
- การตรวจสอบประวัติของปลา : สอบถามผู้ขายเกี่ยวกับประวัติการดูแลรักษาของปลาและการกักตัวปลาใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่าปลาที่คุณเลือกไม่มีปัญหาสุขภาพ
5. การให้อาหารปลาคราฟ
- ประเภทของอาหาร : ใช้อาหารเม็ดสำหรับปลาคราฟที่มีคุณภาพดี รวมถึงอาหารสดซึ่งเราก็ขอแนะนำเป็นเนื้อปลาป่น, กุ้งสดบด, เนื้อหอย, เนื้อปู, ปลาหมึก, ข้าวสาลี, รำ, ผักกาด, ข้าวโพด, แมลง, สาหร่าย, ตะไคร่น้ำ, แหน, ลูกน้ำ, หนอนแดง, ถั่วเหลือง เพื่อให้ปลาคราฟได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
- ปริมาณและความถี่ : ให้อาหารวันละ 2-3 ครั้ง ในปริมาณที่ปลาสามารถกินหมดภายใน 5-10 นาที เพื่อป้องกันการสกปรกของน้ำ
- การหลีกเลี่ยงการให้อาหารมากเกินไป : การให้อาหารมากเกินไปอาจทำให้น้ำสกปรกและเกิดปัญหาสุขภาพในปลาคราฟ
6. การดูแลรักษา
- ไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น : ไม่ควรนำปลาขนาดใหญ่มาเลี้ยงหรือปลาชนิดอื่นมาเลี้ยงรวมกับปลาคราฟ เพราะอาจนำเชื้อโรคมาให้ปลาคราฟได้
- น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาคราฟ : ปลาคราฟจะชอบอยู่ในน้ำที่มีสภาพเป็นกลาง ดังนั้นน้ำประปาจึงตอบโจทย์สำหรับการเลี้ยงปลาคราฟมากที่สุด โดยน้ำประปาที่ใช้จะต้องเปิดเก็บไว้ประมาณ 2-3 วันให้คลอรีนระเหยออกหมดแล้ว นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำฝนและน้ำคลองในการเลี้ยงปลาคราฟ เพราะเสี่ยงต่อการทำให้ปลาคราฟติดเชื้อ อีกทั้งน้ำฝนยังทำลายสีสันบนลำตัวของปลาคราฟอีกด้วย
- การเปลี่ยนถ่ายน้ำ : ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หรือบ่อยขึ้นหากมีสกปรกมาก การเปลี่ยนถ่ายน้ำช่วยลดการสะสมของสิ่งสกปรกและรักษาคุณภาพน้ำ
- การตรวจสุขภาพปลา : ควรตรวจสอบสุขภาพปลาคราฟอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าปลามีอาการผิดปกติ เช่น ไม่กินอาหาร หรือมีรอยแผล สีซีด ว่ายน้ำนิ่ง ๆ กินอาหารได้น้อยลง ควรรีบจัดการและรักษาในทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปสู่ตัวอื่น
- การใช้ยาฆ่าเชื้อ : ในบางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อในบ่อเพื่อป้องกันการเกิดโรค แต่ควรใช้ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
การเลี้ยงปลาคราฟไม่ใช่เรื่องยากหากเรามีความรู้และใส่ใจในการดูแล ปลาคราฟเป็นปลาที่สวยงามและมีชีวิตชีวา การได้เห็นปลาคราฟว่ายน้ำในบ่อที่สวยงามจะช่วยเพิ่มความสุขและความผ่อนคลายให้กับคุณอย่างแน่นอน และไว้โอกาสหน้าเราจะนำข้อมูลดี ๆ อะไรมาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามได้ที่ Propertyhub Blog : บทความที่รวบรวมทุกเรื่องราวเกี่ยวกับอสังหาฯ และ Lifestyle ภายในบ้านและคอนโด