หากพูดถึงการผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโด หลาย ๆ คน คงจะนึกถึงการผ่อนระยะยาวที่นานนับสิบปี จนมีความคิดว่า...กว่าจะมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังทำไมมันช่างดูยากเย็นและยาวนานขนาดนี้เนี๊ยะ! อีกทั้งในปัจจุบันนี้ก็มักจะมีข่าวออกมาให้เห็นอยู่บ่อย ๆ กับการจ่ายค่าผ่อนบ้านผ่อนคอนโดหลักหมื่น แต่หักเงินต้นเพียงแค่หลักร้อยที่เหลือคือดอกเบี้ยกินหมด ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็ทำให้ผู้คนต่างแสดงความคิดเห็นกันเป็นวงกว้าง พร้อมกับมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการผ่อนบ้านให้หมดไวขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “การรีไฟแนนซ์(Refinance)” นั่นเอง แต่การรีไฟแนนซ์คืออะไร ? จะช่วยทำให้เราผ่อนบ้านหมดไวขึ้นได้อย่างไร ? วันนี้ทีมงาน Propertyhub ก็จะขอพาคุณไปทำความรู้จักกับการรีไฟแนนซ์บ้านหรือคอนโด ตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยทำให้คุณไม่ต้องทนผ่อนบ้านหรือคอนโดยาวนานนับ 30 ปี
การรีไฟแนนซ์(Refinance) การคืออะไร ?
สำหรับหลาย ๆ คน ที่ยังไม่รู้จักว่าการรีไฟแนนซ์ (Refinance) บ้านหรือคอนโดคืออะไร ? เราจะขออธิบายให้แบบง่าย ๆ ดังนี้
“การรีไฟแนนซ์(Refinance) คือ การย้ายสินเชื่อกู้ซื้อบ้านหรือคอนโดที่เราเคยทำไว้จากธนาคารเดิมไปธนาคารใหม่ หลังจากที่ผ่อนบ้านกับธนาคารเดิมมาเกิน 3 ปี หรือครบตามสัญญาที่ธนาคารกำหนด ซึ่งการรีไฟแนนซ์จะทำให้เราได้รับดอกเบี้ยที่ถูกลง เพราะเราจะได้รับข้อเสนอหรือโปรโมชั่นที่ทางธนาคารใหม่จะมอบให้ (เพื่อดึงดูดใจให้เราย้ายธนาคารไปหาเขานี่แหละ) โดยวิธีการดังกล่าวเราเรียกว่าการรีไฟแนนซ์บ้านหรือคอนโด”
ซึ่งตามปกติแล้วทางธนาคารมักจะมีโปรโมชั่นดอกเบี้ยต่ำในช่วง 3 ปี แรก จึงทำให้หลาย ๆ คน สามารถผ่อนบ้านผ่อนคอนโดกันได้แบบชิลล์ ๆ เพราะตัวเลขดอกเบี้ยและเงินต้นก็ไม่ได้ห่างกันมากสักเท่าไหร่นัก แต่เมื่อเข้าปีที่ 4 ก็ทำเอาหัวใจแทบวาย เพราะดอกเบี้ยจากทางธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหากเปรียบเทียบกับในช่วง 3 ปีแรกที่ผ่านมา ดังนั้นการรีไฟแนนซ์บ้านหรือคอนโดก็จะเปรียบเสมือนการเริ่มต้นขอสินเชื่อและโปรโมชั่นดอกเบี้ยที่ถูกลงจากธนาคารแห่งใหม่ เหมือนในช่วง 3 ปีแรกที่เราได้รับจากทางธนาคารเดิมนั่นเอง และนอกจากการรีไฟแนนซ์จะช่วยลดดอกเบี้ยบ้าน/คอนโดได้แล้ว การรีไฟแนนซ์ยังช่วยลดระยะเวลาในการผ่อนได้อีกทางหนึ่งด้วย เพราะเมื่อคุณจ่ายดอกเบี้ยถูกคุณก็จะมีเงินไปทบต้นได้นั่นเอง รวมไปถึงการรีไฟแนนซ์ยังช่วยลดยอดผ่อนต่อเดือนและยังสามารถขอวงเงินกู้เพิ่มได้อีกด้วย
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนทำเรื่องรีไฟแนนซ์บ้าน/คอนโด
สิ่งสำคัญที่คุณจะต้องทำหากคุณตัดสินใจแล้วว่าจะดำเนินเรื่องรีไฟแนนซ์บ้านหรือคอนโดเลยก็คือ “การเตรียมตัวให้พร้อม” โดยทางทีมงาน Propertyhub ได้สรุปใจความสำคัญในการเตรียมตัวออกมาเป็นข้อ ๆ ดังนี้...
1. คุณสมบัติผู้ที่ต้องการรีไฟแนนซ์บ้าน/คอนโด
พนักงานเอกชน/ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ
มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 65 ปี โดยนับจากวันที่ทำสัญญา
สัญชาติไทย
มีฐานเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท/เดือน
ต้องผ่านการทดลองงาน และเริ่มทำงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน
เจ้าของกิจการหรือธุรกิจส่วนตัว
มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 65 ปี โดยนับจากวันที่ทำสัญญา
สัญชาติไทย
มีฐานเงินเดือนมากกว่า 30,000 บาท
มีหลักฐานการจดทะเบียนบริษัท
ดำเนินกิจการมาแล้วมากกว่า 2 ปี
อาชีพอิสระ/ฟรีแลนซ์
มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 65 ปี โดยนับจากวันที่ทำสัญญา
สัญชาติไทย
มีฐานเงินเดือนมากกว่า 30,000 บาท
มีหลักฐานแสดงแหล่งที่มาของรายได้ที่ชัดเจนแนบมาด้วย
ดำเนินกิจการมาแล้วมากกว่า 2 ปี
2. เอกสารที่ต้องใช้ในการรีไฟแนนซ์บ้าน/คอนโด
2.1 เอกสารยืนยันตัวบุลคล
สำเนาบัตรประชาชน
สำเนาทะเบียนบ้าน
สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของคู่สมรส (ถ้ามี)
สำเนาทะเบียนสมรส/หย่า (ถ้ามี)
สำเนาใบมรณบัตรและทะเบียนสมรสของคู่สมรส (ถ้ามี)
2.2 เอกสารเกี่ยวกับการเงิน
กรณีเป็นบุคคลที่มีรายได้ประจำ
เอกสารรับรองการทำงานหรือสลิปเงินเดือน 3 เดือนล่าสุด
สเตทเมนท์การเดินบัญชีธนาคาร 6 เดือนล่าสุด
เอกสารรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
กรณีเป็นบุคคลที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว
สเตทเมนท์การเดินบัญชีธนาคาร 12 เดือนล่าสุด
เอกสารรับรองการจดทะเบียน/ใบทะเบียนการค้า
เอกสารรับรอง ภ.พ. 30 หรือ ภงด. 50/51 5 เดือนล่าสุด
2.3 เอกสารแสดงหลักประกัน
สัญญาเงินกู้กับธนาคารแห่งเก่า
หลักฐานกรรมสิทธิ์หลักประกัน
หลักฐานการจำนองที่ดิน หรือ หลักฐานการจำนองห้องชุด
หลักฐานการขายที่ดิน ทด.13 หรือ หลักฐานการให้ที่ดิน ทด.14 หรือ หลักฐานการซื้อขายห้องชุด
ใบเสร็จค่าผ่อนชำระงวดบ้าน หรือ สเตทเมนท์การเดินบัญชีธนาคาร 12 เดือนล่าสุด
ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้าน/คอนโด
1. ตรวจสอบสัญญาการกู้
ขั้นตอนแรกให้คุณตรวจสอบรายละเอียดในสัญญากู้ฉบับเดิมว่าครบระยะเวลาตามเงื่อนไขหรือยัง ? เพราะถ้าหากคุณตัดสินใจรีไฟแนนซ์ก่อนกำหนด ก็อาจจะทำให้คุณเจอกับค่าปรับจากทางธนาคารเอาได้ง่าย ๆ อีกทั้งเมื่อคุณตรวจสอบสัญญาการกู้เรียบร้อยและรู้ระยะเวลาครบกำหนดแล้ว ก่อนครบกำหนดสัญญาประมาณ 1 – 2 เดือน ให้คุณยื่นเรื่องรีไฟแนนซ์กับทางธนาคารใหม่ไปได้เลย เพราะคุณอย่าลืมว่าทางธนาคารใหม่ก็ต้องใช้เวลาในการพิจารณา ประเมินราคาและทำเรื่องอนุมัติสินเชื่อเช่นเดียวกัน
2. เลือกโปรโมชั่นรีไฟแนนซ์จากธนาคารที่เหมาะสมกับเรา
รายละเอียดในส่วนนี้คุณสามารถสอบถามกับทางเจ้าหน้าที่ของธนาคารต่าง ๆ ได้โดยตรง ยิ่งในปัจจุบันนี้ด้วยแล้ว ทางธนาคารต่าง ๆ ก็มักจะมีโปรโมชั่นรีไฟแนนซ์ให้คุณเลือกกันจนตาลายเลยทีเดียว รวมไปถึงธนาคารบางแห่งก็มีโปรโมชั่นสำหรับลูกค้าเดิม เพื่อไม่ให้ย้ายไปทำเรื่องรีไฟแนนซ์กับธนาคารอื่น เพราะฉะนั้นแล้วทางที่ดีคุณควรจะมองหาโปรโมชั่นรีไฟแนนซ์ที่ให้ดอกเบี้ยถูกและเหมาะสมกับความต้องการของคุณเป็นหลัก
3. จัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้พร้อม
รายละเอียดในส่วนนี้ก็ให้คุณจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ตามข้อมูลที่เราได้กล่าวไปเมื่อข้างต้นได้เลย (หากยื่นเรื่องรีไฟแนนซ์หลายธนาคาร จำเป็นที่ต้องยื่นเอกสารธนาคารละชุด)
4. ยื่นเรื่องรีไฟแนนซ์กับทางธนาคาร
หลังจากที่คุณจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ เรียบร้อยหมดแล้ว ลำดับต่อมาก็คือการยื่นเรื่องกับทางธนาคารใหม่ ซึ่งถ้าหากเอกสารครบถ้วน ทางธนาคารจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาประเมินราคาหลักประกันเพื่อนำไปประกอบการขอสินเชื่อ และให้คุณรอผลอนุมัติการรีไฟแนนซ์ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ทางธนาคารก็จะแจ้งผลให้คุณได้รับทราบ
5. เตรียมจ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
หากทางธนาคารอนุมัติสินเชื่อเรียบร้อย ลำดับต่อมาคือให้คุณเตรียมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งจะเหมือนกับตอนกู้ซื้อบ้านใหม่ โดยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่คุณจะต้องเจอหลังจากการรีไฟแนนซ์ก็เช่น ค่าประเมิน ค่าจดจำนอง ค่าประกันอัคคีภัย ค่าอากรแสตมป์ ค่าธรรมเนียมของทางธนาคารเป็นต้น
6. ทำสัญญาและจดจำนองที่กรมที่ดิน
ขั้นตอนสุดท้ายก็คือ ทำสัญญาสินเชื่อกับธนาคารใหม่ แล้วไปทำเรื่องจำนองที่กรมที่ดิน ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยสำหรับการรีไฟแนนซ์บ้านหรือคอนโด
สำหรับใครที่ต้องการปิดจบหนี้สินก้อนใหญ่อย่างการผ่อนบ้านหรือคอนโดให้หมดไวขึ้น การรีไฟแนนซ์(Refinance) ก็คงจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้คุณสามารถปิดจบหนี้ก้อนใหญ่ก้อนนี้ได้รวดเร็ว ไม่ต้องทนผ่อนบ้านนานนับ 10 ปี และทีมงาน Propertyhub ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่เราได้กล่าวไปข้างต้น คงจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ที่กำลังผ่อนบ้าน/คอนโดได้ไม่มากก็น้อย และไว้โอกาสหน้าทีมงานจะนำข้อมูลดี ๆ อะไรมาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามได้ที่ Propertyhub Blog : บทความที่รวมทุกเรื่องราวของบ้าน คอนโดและอสังหาฯ