เมื่อไหร่ที่คุณตัดสินใจซื้อคอนโดใหม่หรือบ้านใหม่ นอกเหนือจากทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ต้องขนย้ายแล้ว “การย้ายเข้าทะเบียนบ้านใหม่หรือย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง” ก็เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญที่คุณจะต้องดำเนินการ ดังนั้นทางทีมงาน Propertyhub จึงจะขอนำรายละเอียด “ขั้นตอนการย้ายทะเบียนบ้านและเอกสารที่คุณจะต้องเตรียม” ให้พร้อมก่อนไปดำเนินการทำเรื่องย้ายทะเบียนบ้านมาฝาก ซึ่งจะมีขั้นตอนและเอกสารอะไรบ้างนั้น เราไปติดตามข้อมูลนี้พร้อม ๆ กันเลย
“ทะเบียนบ้านสำหรับผู้ที่พึ่งซื้อคอนโดใหม่ ทาง Developer จะส่งมอบเล่มทะเบียนบ้าน(สีน้ำเงิน) ให้กับคุณหลังจากการโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายที่สำนักงานที่ดินเสร็จสิ้น”
ประเภทของทะเบียนบ้าน
ในปัจจุบันนี้มีทะเบียนบ้านทั้งหมด 5 ประเภท ซึ่งประกอบไปด้วย
ทะเบียนบ้าน ทร.14 : เป็นเล่มสีน้ำเงิน ซึ่งจะออกให้กับคนไทยหรือต่างชาติที่มีใบสำคัญประจำตัว
ทะเบียนบ้าน ทร.13 : เป็นเล่มสีเหลืองออกให้กับชาวต่างชาติที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในลักษณะชั่วคราว รวมถึงคนเข้าเมืองผิดกฎหมายก็สามารถขอได้ ทั้งนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้มีหลักฐานแสดงถึงสถานะทางทะเบียนของคนต่างชาติในประเทศไทย
ทะเบียนบ้านชั่วคราว : เป็นทะเบียนบ้านที่ออกให้กับบ้านที่ปลูกสร้างในที่สาธารณะหรือโดยบุกรุกป่าสงวน หรือโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร หรือตามกฎหมายอื่น มีอายุการใช้งานไม่เกิน 1 ปี
ทะเบียนบ้านชั่วคราวของสำนักทะเบียน : เป็นทะเบียนบ้านที่ออกให้กับบุคคลที่แจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) และจะย้ายไปยังที่อยู่ใหม่ มีอายุการใช้งานไม่เกิน 60 วัน
ทะเบียนบ้านกลาง : ออกโดยผู้อำนวยการทะเบียนกลาง (ไม่ใช่ทะเบียนบ้าน) ซึ่งเป็นทะเบียนบ้านที่ออกให้กับบุคคลที่อาจจะไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านทั่วไป เช่น บุคคลที่อาศัยอยู่ในสถานศึกษา สถานพยาบาล สถานกักขัง หรือสถานพินิจ เป็นต้น
1. การขอทะเบียนบ้าน
เอกสารสำหรับใช้ในการขอทะเบียนบ้าน
บัตรประชาชนของผู้ขอทะเบียนบ้าน : ในกรณีที่เจ้าบ้านไม่สามารถไปทำเรื่องเองได้ จำเป็นที่จะต้องมีสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านอย่างละ 1 ชุด พร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง แนบไปพร้อมใบมอบอำนาจและลงลายมือชื่อพยานจำนวน 2 คน
ใบ ท.ร.9 หรือ ใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน : เอกสารที่ออกโดยหน่วยงานในท้องที่ที่บ้านปลูกสร้างเสร็จตั้งอยู่
หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน (ถ้ามี) : อาทิ โฉนดที่ดิน นส.3 ส.ป.ก.4-01 และ ส.ค.1 เป็นต้น ไม่รวม ภ.บ.ท.5 หรือใบภาษีบำรุงท้องที่
ใบอนุญาตก่อสร้างบ้าน (กรณีปลูกบ้านใหม่) หรือ หนังสือรับรองสิ่งปลูกบ้าน (กรณีสร้างบ้านนานแล้ว) หรือหนังสือสัญญาซื้อขายบ้าน (ถ้ามี) : หากไม่มีเอกสารดังกล่าวให้ใช้หนังสือยินยอมจากเจ้าของที่ดินหรือสัญญาเช่าที่ดิน
รูปถ่ายบ้านที่สร้างแล้วเสร็จทั้ง 4 ด้าน : ได้แก่ ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านซ้ายและด้านขวา เพื่อให้นายทะเบียนตรวจสอบลักษณะบ้านอีกครั้ง
ขั้นตอนในการขอทะเบียนบ้าน
ให้คุณนำเอกสารทั้งหมดไปยื่นเรื่อง ณ สำนักทะเบียนพื้นที่ที่คุณปลูกสร้างหรือซื้อโครงการบ้านหลังนั้นเอาไว้ หากอยู่ในกรุงเทพฯ ให้ไปยังฝ่ายทะเบียนของสำนักงานเขต แต่ถ้าหากเป็นพื้นที่ปริมณฑลและต่างจังหวัดก็ให้ไปยังฝ่ายทะเบียนของที่ว่าการอำเภอ
หลังจากทำการยื่นเรื่องเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปนายทะเบียนจะตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ หากครบถ้วนหรือไม่ ? ซึ่งถ้าเอกสารครบถ้วน ก็จะเข้าสู่การออกเลขที่บ้าน หนังสือเล่มทะเบียนบ้านพร้อมสำเนา
และเมื่อเอกสารทำเสร็จครบถ้วนทางนายทะเบียนก็จะส่งคืนให้กับผู้ที่มาขอทะเบียนบ้าน เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยสำหรับการขอทะเบียนบ้าน
2. การย้ายเข้าทะเบียนบ้าน
เอกสารสำหรับใช้ในการย้ายเข้าทะเบียนบ้าน
สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน)
บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน
ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (ท.ร. 6) ตอนที่ 1 และ 2 ซึ่งเจ้าบ้านลงนามยินยอมให้ย้ายเข้าแล้ว
ขั้นตอนการย้ายเข้าทะเบียนบ้าน
ให้คุณนำเอกสารทั้งหมดไปยื่นต่อนายทะเบียนที่สำนักงานเขตหรือสำนักงานอำเภอท้องที่ที่จะย้ายเข้า โดยสามารถยื่นได้ด้วยตัวเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้ ซึ่งในกรณีที่มอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทน จะต้องนำหนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจมาด้วย
นายทะเบียนจะตรวจสอบเอกสารและหลักฐานว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ จากนั้นจึงลงรายการในใบแจ้งการย้ายที่อยู่และเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน
หลังจากนั้นนายทะเบียนจะออกหนังสือรับรองการแจ้งย้ายที่อยู่แก่คุณเป็นหลักฐานและคืนสำเนาทะเบียนบ้านให้แก่ผู้แจ้ง ซึ่งขั้นตอนหลัก ๆ ในการย้ายเข้าทะเบียนบ้านก็ถือได้ว่าเป็นอันเสร็จสิ้น
3. การย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง
การย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง คือ การแจ้งย้ายออกและย้ายเข้าทะเบียนบ้านไปพร้อม ๆ กัน โดยผู้แจ้งย้ายไม่จำเป็นต้องเดินทางไปแจ้งย้ายออกที่ทะเบียนบ้านเดิม แต่สามารถแจ้งย้ายเข้าที่ทะเบียนบ้านใหม่ได้เลยทันที
เอกสารสำหรับใช้ในการย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง
บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านที่จะย้ายเข้า
บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่จะย้ายเข้าอยู่ในบ้าน
หนังสือแสดงความยินยอมของเจ้าบ้านที่อนุญาตให้ย้ายเข้าอยู่ในบ้าน
สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) ที่ย้ายเข้าไปอยู่ใหม่
หนังสือยินยอมให้แจ้งย้ายเข้าของเจ้าบ้านที่จะเข้าอยู่ใหม่ (กรณีเจ้าบ้านไม่สามารถไปแจ้งย้ายได้)
หนังสือมอบหมายจากผู้ย้ายที่อยู่ บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมด้วยสำเนาบัตรดังกล่าวที่ลงชื่อเจ้าของบัตรกำกับไว้ ทั้งผู้มอบและผู้รับมอบ (ต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเจ้าบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส ญาติ คนรู้จัก เป็นต้น)
ขั้นตอนการย้ายเข้าทะเบียนบ้านปลายทาง
ให้คุณนำเอกสารทั้งหมดไปยื่นต่อนายทะเบียนที่สำนักงานเขตหรือสำนักงานอำเภอท้องที่ที่จะย้ายเข้า
นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานและลงรายการในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ จากนั้นให้คุณเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด ซึ่งถ้าหากเอกสารครบถ้วน นายทะเบียนจะลงรายการในใบแจ้งการย้ายที่อยู่และสำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
จากนั้นจะมอบสำเนาทะเบียนบ้านและหลักฐานคืนให้ ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอน
เห็นไหมล่ะว่าการย้ายเข้าทะเบียนบ้านใหม่หรือย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากเลยแม้แต่น้อย เพียงแต่คุณจะต้องจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้พร้อม เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนได้อย่างรวดเร็ว และไว้โอกาสหน้าเราจะนำข้อมูลดี ๆ อะไรมาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามได้ที่ Propertyhub Blog : บทความที่รวมทุก Lifestyle ของคนรักคอนโดและบ้าน