“ไม่ว่าจะเป็นการพักอาศัยอยู่ภายในคอนโดหรือที่พักอาศัยที่มีการใช้ผนังและโครงสร้างร่วมกัน (อาทิเช่น ทาวน์โฮม/ทาวน์เฮาส์) ก็มักจะมีปัญหาในเรื่องของเสียง ทั้งจากเสียงของเราไปรบกวนเขา หรือเสียงจากเขามารบกวนเรา”
ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่คุณสามารถทำได้เบื้องต้นก็มีอยู่หลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็น...
อุดรอยร้าวของผนังที่แตก (เสียงจะผ่านบริเวณช่องว่างที่เกิดรอยร้าว)
เลื่อนตู้หรือชั้นวางของไปชิดกับผนังด้านที่เกิดเสียงรบกวน
ติดวอลเปเปอร์แบบหนา
ติดซีลขอบประตูและหน้าต่างเพื่อป้องกันเสียง
เลือกใช้กระจกประตูหรือหน้าต่างที่เป็นแบบกันเสียง
แต่ถ้าได้ลองทุกวิธีข้างต้นไปแล้วปัญหาเสียงข้างห้องดังรบกวนก็ยังไม่หาย มันก็ยังมีอีกหนึ่งวิธีแก้ไขปัญหาที่ได้รับความนิยมและมีหลายๆ คน ให้ความคิดเห็นว่าได้ผลดีมากที่สุด ก็คือ “การทำผนังกันเสียง” ซึ่งอันดับแรกเราจะขออธิบายการเดินทางของเสียงกันก่อนว่า เสียงที่เล็ดลอดออกมานั้นมักจะเดินทางผ่านตัวกลาง 2 ทาง คือ...
อากาศ (Airborne Sound Transmission) - อาทิเช่น รอยต่อปลั๊กที่อยู่ตำแหน่งเดียวกัน ช่องว่างของผนังส่วนเหนือฝ้าที่ก่อไม่ชนถึงท้องคาน รอยร้าวต่างๆ เป็นต้น
โครงสร้าง (Structure-Borne Sound Transmission) - โดยการสั่นสะเทือนของโครงสร้างหรือส่วนประกอบอาคาร อย่างเวลาปิดประตูแรงๆ กระแทกจนเกิดแรงสั่นสะเทือนผ่านวงกบต่อเนื่องไปยังผนัง พื้น/คาน/เสา หรือเวลาที่ข้างห้องเปิดเพลงดังจนเรารู้สึกถึงการสั่นสะเทือนที่กระทบผ่านส่วนต่างๆ ของอาคาร
ทำผนังกันเสียงเพื่อเพิ่มค่า STC ที่จะช่วยป้องกันเสียงรบกวนจากเพื่อนข้างห้อง
การทำผนังกั้นเสียงนั้นจะเป็นการเพิ่มค่า STC ให้ผนังเพื่อป้องกันเสียงรบกวน โดยการติดตั้งผนังกันเสียงเข้ากับผนังเดิม ซึ่งในปัจจุบันนี้คอนโดส่วนใหญ่มักจะก่อผนังด้วยอิฐมวลเบาที่มีค่า STC ต่ำสุดในบรรดาผนังทั้งหมด (ค่า STC ของอิฐมวลเบาอยู่ที่ประมาณ 38 – 42 ทั้งๆ ที่วิศวกรส่วนใหญ่แนะนำว่าค่า STC ของผนังควรอยู่ที่ 45) ส่งผลให้เราหรือเพื่อนข้างห้องมักจะได้ยินเสียงของกันและกันอยู่เสมอ ดังนั้นการติดตั้งผนังกันเสียงจึงกลายเป็นการเพิ่มค่า STC ที่จะช่วยป้องกันสียงออก/เข้า ได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง
***เกร็ดความรู้*** ค่า STC คืออะไร ?
ค่า STC (Sound Transmission Class) เป็นค่าที่สำคัญในด้านอะคูสติก ซึ่งเป็นระบบเลขตัวเดียว (ค่า STC ไม่มีหน่วย แต่อิงจาก เดซิเบล) บอกถึง ประสิทธิภาพการกันเสียงของผนัง/ฝ้าเพดาน/ประตู/หน้าต่าง ฯลฯ
ทั้งนี้ยิ่งผนังห้องหรือผนังบ้านของเรามีค่า STC สูงมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยป้องกันเสียงรบกวนจากเพื่อนข้างห้องหรือเสียงของเราจะออกไปรบกวนคนอื่นได้มากขึ้นเท่านั้น สรุปแล้วผนังกันเสียงก็เปรียบเสมือน Option เสริมที่จะช่วยทำให้ผนังเดิมๆ มีค่า STC มากยิ่งขึ้นนั่นเอง และสำหรับใครที่จะติดตั้งผนังกันเสียง คุณก็สามารถสอบถามรายละเอียดกับผู้ให้บริการเจ้าต่างๆ ได้โดยตรง
และไว้โอกาสหน้าทีมงาน Propertyhub จะนำข้อมูลดีๆ อะไรมาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามได้ที่ Propertyhub Blog บทความที่รวมทุก Lifestyle ของชาวคอนโด