สำหรับใครที่มีแพลนจะซื้อคอนโดในปี 2566 บทความนี้คงจะเป็นประโยชน์ให้กับคุณได้อย่างแน่นอน เพราะหลายๆ คน กำลังตั้งคำถามว่า ซื้อบ้าน/คอนโด ในปี 2566 จะสามารถลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ ? เพราะฉะนั้นวันนี้เราจึงได้รวบรวมข้อมูลของการลดหย่อนภาษีปี 2566 เมื่อซื้อบ้านหรือคอนโดมาฝาก โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ในการขอสินเชื่อ(จากผู้ประกอบกิจการภายในประเทศตามที่กรมสรรพากรกำหนด)เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก ไม่ว่าจะเป็นบ้านพร้อมที่ดิน คอนโด ทาวน์โฮม บ้านแฝด ฯลฯ คุณสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท .
วิธีคิดการหักลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรกปี 2566
การหักลดหย่อนจะคิดเฉพาะส่วนดอกเบี้ยจากการกู้ยืม ไม่คิดส่วนเงินต้น เช่น คุณจ่ายดอกเบี้ยคอนโดเดือนละ 10,000 บาท จำนวน 12 เดือน รวมดอกเบี้ยต่อปีคือ 120,000 บาท เท่ากับว่าคุณจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุดอยู่ที่ 100,000 บาท
ในกรณีการกู้ร่วมเพื่อซื้อคอนโดสามารถลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ ?
และในส่วนของกรณีกู้ร่วมจะต้องแบ่งค่าลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่ยื่นกู้ร่วมในจำนวนเท่าๆ กัน แต่จะต้องรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท เช่นเดียวกับการกู้ซื้อคนเดียว โดยเราจะขอยกตัวอย่างเพื่อให้คุณได้มองเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นดังนี้...
“สามี-ภรรยา ยื่นกู้ซื้อคอนโดร่วมกัน โดยมีการจ่ายดอกเบี้ยให้กับทางธนาคารรวมเป็นเงิน 120,000 บาท/ปี จะได้ลดหย่อนภาษีสูงสุดอยู่ที่ 100,000 บาท และจะได้สิทธิลดหย่อนโดยแบ่งกันคนละครึ่งคือ คนละ 50,000 บาท”
หลักฐานที่ต้องใช้สำหรับการลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรก
สำเนาสัญญาซื้อขาย (ท.ด.13) หรือสำเนาหนังสือโอนกรรมสิทธิ์อาคารพร้อมที่ดิน หรือสำเนาสัญญาซื้อขายห้องชุดในอาคารชุด (อ.ช.23) หรือสำเนาห้องชุดในอาคารชุดแล้วแต่กรณี มีตราครุฑ
สำเนาสัญญากู้ยืมเงิน
หนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์
หนังสือรับรองการซื้ออสังหาริมทรัพย์ว่าเป็นที่อยู่อาศัยหลังแรก
เกร็ดความรู้จากการลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรกจากกรมสรรพากร
การขอลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรก(หรืออสังหาฯ ที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ) จะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อมีการกู้ยืมเงินจากผู้ประกอบกิจการภายในประเทศตามที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ โดยกรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ไว้ดังนี้...
1.ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมต้องมาจากผู้ประกอบกิจการภายในประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย
ธนาคาร/สถาบันการเงิน
บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์
บริษัทประกันชีวิต
สหกรณ์
นายจ้างที่มีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนที่จัดสรรเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้าง
บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามกฎหมาย ว่าด้วยบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
2.ดอกเบี้ยเงินกู้
โดยดอกเบี้ยเงินกู้จะต้องมาจากสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย (ยกเว้นเงินกู้เพื่อซ่อมแซมบ้าน จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้)
3.ต้องมีการจดจำนอง
สำหรับข้อที่ 3 จะต้องมีการจดจำนองบ้าน คอนโดหรือบ้านพร้อมที่ดิน เพื่อเป็นหลักประกันในการกู้ยืมนั้นๆ
4.ในกรณีมีบ้านหรือที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง
ในกรณีที่ผู้ใช้สิทธิลดหย่อนมีที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง ก็ยังสามารถทำเรื่องขอใช้สิทธิลดหย่อนได้ แต่เมื่อรวมกันแล้วจะต้องอยู่ในเงื่อนไข ที่สามารถลดหย่อนได้สูงสุดเพียงแค่ 100,000 บาท เท่านั้น
5.ในกรณีมีผู้กู้ร่วม
หากมีการกู้ร่วมซื้อบ้าน/คอนโดหรือที่อยู่อาศัยในรูปแบบอื่นๆ ผู้กู้ร่วมก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ แต่ทุกคนจะต้องเฉลี่ยค่าลดหย่อนคนละเท่าๆ กัน และรวมกันจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท (ตามรายละเอียดที่เราได้กล่าวไปเมื่อข้างต้น)
6.สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภายในปีนั้นได้เลยทันที
เมื่อคุณทำเรื่องขอสินเชื่อเพื่อกู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้แล้ว คุณสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปีนั้นได้เลยทันที
รายละเอียดที่เรากล่าวไปข้างต้น คงพอจะทำให้คุณรู้แล้วใช่ไหมล่ะว่า หากซื้อคอนโดในปี 2566 จะสามารถลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ ? และไว้โอกาสหน้าทีมงาน Propertyhub จะนำข้อมูลดีๆ อะไรมาฝากคุณอีก คุณก็สามารถติดตามพวกเราได้ที่ Propertyhub Blog : บทความสำหรับชาวคอนโดยุคใหม่
อีกทั้งใครที่กำลังมองหาโครงการคอนโดมือสองทำเลสวย ราคาดี คุณก็สามารถเข้าไปเลือกชมโครงการคอนโดกว่า 4,000 โครงการ ทั่วประเทศได้ที่ Propertyhub เว็บไซต์ที่จะช่วยทำให้คุณเจอกับโครงการคอนโดที่ใช่ ตามที่ใจคุณต้องการ