สำหรับเรื่องการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น เป็นเรื่องที่ทุกคนต่างรู้ดีว่ามันคือหน้าที่และข้อกฎหมายที่ผู้มีรายได้จะต้องยื่นภาษี เพื่อแสดงหลักฐานรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา และแม้ว่ารายได้ของบางคนจะไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องจ่ายภาษีแต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องยื่นให้ทางสรรพากรได้ตรวจสอบ โดยการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นจะยื่นปีละ 1 ครั้ง นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคมของทุกๆ ปี หรือถ้าหากยื่นทางออนไลน์จะสามารถยื่นได้ถึง 8 เมษายน และก็คงจะมีคำถามตามมาว่า การลดหย่อนภาษีที่ได้ยินบ่อยๆ คืออะไร ? มันสามารถลดหย่อนภาษีได้จริงๆ หรอ ? ดังนั้นวันนี้ทางทีมงาน Propertyhub จึงได้ไปเสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้มาฝาก ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรบ้างนั้น เราไปติดตามข้อมูลและเตรียมตัวในการยื่นภาษีปี 2565 พร้อมๆ กันเลย
เอกสารที่คุณต้องเตรียมสำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีปี 2565
รูปแบบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ ภ.ง.ด.90 (สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน) และ ภ.ง.ด.91 (สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมอื่น) โดยคุณจะต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้...
หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับใบ 50 ทวิ
รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา
เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี
สถานที่สำหรับการยื่นภาษีประจำปี
ยื่นภาษีด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th
ยื่นภาษีผ่านแอพพลิเคชั่น RD Smart Tax
รวมรายการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2565
หักลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
1. หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
2. หักค่าลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ 60,000 บาท
3. ค่าลดหย่อนบุตรที่เรียนอยู่ และอายุไม่เกิน 25 ปี ได้ 30,000 บาท/ปี
4. ค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป และเกิดตั้งแต่ปี 2561 จะได้ค่าลดหย่อนเพิ่มอีก คนละ 60,000 บาท
5. ค่าฝากครรภ์และค่าทำคลอด ลดหย่อนตามที่จ่ายจริงรวมแล้วต้องไม่เกินท้องละ 60,000 บาท
6. ค่าลดหย่อนบิดามารดา คนละ 30,000 บาท/ปี พ่อแม่ที่เสียชีวิตระหว่างปีก็ยังสามารถลดหย่อนได้อยู่
7. ค่าลดหย่อนผู้พิการ คนละ 60,000 บาท
หักลดหย่อนประกันและการลงทุน
8. เบี้ยประกันชีวิต/เงินฝากแบบมีประกันชีวิต ลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริงรวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท
9. ประกันสุขภาพบิดามารดา ลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริงรวมแล้วไม่เกิน 15,000 บาท -ประกันสุขภาพตนเอง เท่าที่จ่ายจริงรวมแล้วไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
10. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง รวมแล้วไม่เกิน 15% ของเงินเดือนและเมื่อรวมทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท
11. กองทุนรวม (RMF) ลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับข้อ 10 ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
12. เบี้ยประกันชีวิตรูปแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับข้อ 10. และ ข้อ 11. ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
13. เงินประกันสังคม ลดหย่อนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 9,000 บาท
14. กองทุนออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 13,200 บาท และเมื่อรวมกับข้อ 10. ข้อ 11. และข้อ 12. ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
15. ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับ ข้อ 10. ข้อ 11. ข้อ 12. และข้อ 14. ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
หักลดหย่อนเงินบริจาค
16. เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง นำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งมาจากมาตรา 70 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองสามารถนำจำนวนเงินบริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร
17. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
18. เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
หักลดหย่อนอสังหาริมทรัพย์
19. ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัย หักได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท
หักลดหย่อนบัตรเครดิต
20. ค่าธรรมเนียมชำระเงินด้วยบัตรเครดิต ลดหย่อนตามที่จ่ายจริงเมื่อชำระค่าเช่า, ค่าวิชาชีพอิสระ, ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ หรือเงินได้การประกอบธุรกิจอื่น ๆ
หักลดหย่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
21. โครงการช้อปดีมีคืน 2565 สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565 ตามที่จ่ายจริง โดยสินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้า OTOP สินค้าหมวดหนังสือ (รวมถึง E-Book)
22. เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม ลดหย่อนตามจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
รายละเอียดข้างต้นถือได้ว่าเป็นรายการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามกฎหมายกำหนด! ดังนั้นในการยื่นภาษีปี 2565 ที่กำลังจะมาถึงนี้ คุณก็อย่าลืมที่จะตรวจสอบดูว่ามีรายละเอียดข้อไหนบ้างที่ตรงกับคุณ เพื่อที่คุณจะได้นำรายละเอียดในข้อนั้นๆ มาลดหย่อนภาษีหรือเพื่อที่คุณจะได้รับภาษีเงินคืนนั่นเอง!
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : itax