การตรวจเช็กสภาพรถยนต์ เป็นสิ่งที่เจ้าของรถ หรือชาวคอนโดที่มีรถยนต์เป็นของตนเองควรรู้ เพราะนอกจากจะเป็นการเตรียมความพร้อมไม่ให้เกิดเหตุฉุกเฉินหรือเหตุไม่คาดฝันแล้ว ยังสามารถประหยัดเงินในกระเป๋าเพื่อไปจัดการในด้านอื่นๆ ต่อไป แม้หลายคนจะคิดว่า การตรวจเช็กสภาพรถ ต้องไปศูนย์ตรวจสภาพรถยนต์เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเจ้าของรถก็สามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง วันนี้ Autospinn เผย 8 จุดที่เจ้าของรถสามารถตรวจเช็กสภาพรถยนต์ได้ด้วยตนเอง เพื่อให้มั่นใจว่า ก่อนออกเดินทางถ้าเช็กอย่างดี ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล ส่วนจะมีจุดไหนที่ต้องเรียนรู้ไว้เนิ่นๆ บ้างนั้น มาดูกันเลย
ส่อง 8 จุดตรวจเช็กสภาพรถยนต์ที่เจ้าของรถต้องรู้
ชาวคอนโดที่มีรถยนต์เป็นของตนเอง ถ้าไม่อยากให้การเดินทางต้องสะดุดจนเสียเวลา มี 8 จุดสำคัญที่เจ้าของรถต้องรู้ พร้อมเคล็ดลับการตรวจสภาพรถเบื้องต้นเพื่อความอุ่นใจให้ตนเองและคนที่คุณรัก
หัวใจหลักของการสตาร์ทรถยนต์คือแบตเตอรี่ เพราะเป็นตัวป้อนกระแสไฟฟ้าให้ระบบต่างๆ ที่ต้องการพลังงานไฟฟ้าในรถยนต์ โดยสิ่งที่เจ้าของรถควรดูอย่างละเอียด คือ จุดเชื่อมต่อแบตเตอรี่ ที่หากเชื่อมต่อไม่ดี ระบบเผาไหม้ของเครื่องยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ ภายในรถยนต์เสียหายได้ ซึ่งเจ้าของรถดูแลได้ง่ายๆ ผ่านการทำความสะอาดขั้วแบตเตอรี่ โดยทำได้ดังนี้
ใช้แปรงลวดขัดถูจนกว่าขี้เกลือหรือสารกัดกร่อนที่ติดอยู่หลุดออก จากนั้นถอดขั้วแบตเตอรี่ออกโดยเริ่มจากสายขั้วลบก่อน ถ้าถอดขั้วบวกก่อน สายขั้วบวกจะไปโดนตัวถังหรือชิ้นส่วนอื่นๆ ซึ่งเป็นขั้วลบ อาจเกิดการลัดวงจรและไฟลุกไหม้ได้
ใช้น้ำยาทำความสะอาดขั้วแบตเตอรี่ ทำความสะอาดขั้วต่อและขั้วแบตเตอรี่ให้สะอาด แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดคราบต่างๆ ออกให้หมดจด
ใช้ผ้าแห้งเช็ดขั้วต่อและขั้วแบตเตอรี่ให้แห้งสนิท ก่อนยกเข้าประกอบกลับตามเดิม ขันขั้วต่อแบตเตอรี่ให้แน่น
อย่างไรก็ตาม เจ้าของรถควรตรวจสอบว่า แบตเตอรี่ที่ใช้เป็นชนิดใด ถ้าเป็นชนิดน้ำหรือกึ่งแห้ง ให้ดูว่าสภาพยังสมบูรณ์หรือไม่เพื่อป้องกันแบตเตอรี่รั่วซึม พร้อมเช็กระดับน้ำกลั่นให้อยู่ในระดับที่กำหนดอยู่เสมอ อีกทั้งขั้วแบตเตอรี่และฉนวนหุ้มสายที่ต้องเข้ากับวงจรแน่นเพียงพอหรือไม่
2. ผ้าเบรกและระดับน้ำมันเบรก
ระบบเบรก เป็นระบบที่สำคัญของรถยนต์ที่ให้เจ้าของรถและผู้โดยสาร ปลอดภัยตลอดการเดินทาง ดังนั้น ระบบเบรกต้องพร้อมใช้งานอยู่เสมอ โดยผ้าเบรกต้องไม่บางจนเกินไป เช่นเดียวกับเนื้อผ้าเบรกและแผ่นเหล็กประกบผ้าเบรก (Backing Plate) ต้องหนาไม่น้อยกว่า 7 มม.
ขณะที่จานเบรกต้องไม่สั่น ไม่คด เจียรหน้าสัมผัสให้เรียบเนียนเสมอกันทั่วทั้งวง และมีความหนาไม่ต่างจากของใหม่ที่ซื้อมาจากศูนย์ นอกจากนี้ แนวร่องกลางผ้าเบรก ต้องมีความลึกที่เหมาะสม เช่นเดียวกับชุดคาลิปเปอร์เบรก เมื่อประกบกับผ้าเบรกและจานเบรกต้องแนบสนิท เมื่อเดินทาง ระยะเบรกจากแป้นเบรกต้องมีความลึกพอดี ไม่ตื้นเกินไปและไม่ลึกเกินไป
ส่วนการตรวจน้ำมันเบรกซึ่งเป็นระบบปิดไม่มีการระเหยหรือถูกใช้ไป การตรวจเช็กน้ำมันเบรกจึงแตกต่างจากการตรวจของเหลวอื่นๆ ในรถยนต์ ถ้าน้ำมันเบรกลดลง อาจเป็นไปได้ว่า มีสาเหตุจากผ้าเบรกสึกหรอ หรือจุดที่เบรกรั่วที่ต้องให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและซ่อมแซมเป็นการด่วน
สำหรับน้ำมันเบรกที่เจ้าของรถต้องเช็กนั้น ต้องอยู่ในระดับ Full ตามที่รถยนต์รุ่นนั้นๆ ระบุไว้โดยไม่มีสีคล้ำ หม้อลมเบรกหลังกระปุกน้ำมันเบรกต้องมีสภาพสมบูรณ์ ชุดระบบเบรก ABS สายน้ำมันเบรกต้องมีสภาพดีพร้อมใช้งาน ที่สำคัญ เจ้าของรถพึงระลึกเสมอว่า ควรเปลี่ยนน้ำมันเบรกและผ้าเบรกตามเกณฑ์ที่กำหนด หากมีปัญหาให้ปรึกษาช่างหรือเข้าศูนย์บริการเป็นการด่วน
ระบบกลไกต่างๆ ของเครื่องยนต์จะมีประสิทธิภาพหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับน้ำมันเครื่อง ฉะนั้น ระดับน้ำมันเครื่องต้องอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมตามคู่มือกำหนด และในการเดินทาง ควรมีน้ำมันเครื่องสำรองติดไว้อย่างน้อย 1 ลิตรไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าของรถสามารถตรวจเช็กน้ำมันเครื่องจากก้านวัดน้ำมันเครื่องได้ ดังนี้
ก่อนเปิดฝากระโปรงรถ ต้องจอดรถให้อยู่ในแนวระนาบเดียวกัน
ดึงก้านวัดน้ำมันเครื่องออกและเช็ดทำความสะอาดน้ำมันเครื่องที่ติดกับก้านวัดด้วยผ้าสะอาด
เสียบก้านวัดระดับน้ำมันเครื่องคืน 1 รอบเพื่อดูระดับน้ำมันเครื่อง แล้วดึงก้านวัดระดับน้ำมันเครื่องออกมาอีกครั้ง เพื่อดูว่าระดับน้ำมันเครื่องที่ปลายก้านวัดเป็นอย่างไร ถ้าระดับอยู่ในระหว่าง Max กับ Min หรือ F กับ L แสดงว่าปกติ ยังใช้งานได้ดี
4. ล้อรถยนต์และยางรถยนต์
ล้อและยางรถยนต์เป็นส่วนที่สัมผัสพื้นถนนโดยตรง หากยางเสื่อมสภาพอาจเกิดการระเบิดเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ซึ่งการเช็กล้อรถยนต์ต้องมีสภาพสมบูรณ์ไม่บิดงอ น็อตล้อขันแน่น ส่วนยางรถยนต์ต้องไม่รั่วซึม ไม่แตกลายงา หรือนูนบวมผิดปกติ และเติมลมยางตามที่คู่มือประจำรถกำหนด ที่สำคัญ ต้องเช็กความลึกของร่องดอกยาง หากมีความลึกน้อยกว่า 1.6 มม. หรือภาษาคนรักรถเรียกว่า ดอกยางหมด ต้องเปลี่ยนยางใหม่โดยเร็วที่สุด
5. ระบบช่วงล่างรถยนต์
แม้ว่าการตรวจเช็กระบบช่วงล่างรถยนต์จะทำยากสักหน่อย แต่ก็มีวิธีที่เจ้าของรถสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง เพียงหมั่นตรวจเช็กคราบน้ำมันแกนโช้คว่ารั่วไหลหรือไม่ พร้อมเติมน้ำมันเกียร์และน้ำมันพวงมาลัยพาวเวอร์ให้อยู่ในระดับตามที่คู่มือรถยนต์กำหนด จากนั้นให้ทดลองขับในถนนเรียบทางตรง และดูว่าพวงมาลัยตรง มีเสียงแปลกปลอมหรือผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีความผิดปกติ ควรตรวจสอบดังนี้
ถ้าออกตัวหรือกำลังหยุดรถไม่ว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลัง ถ้ามีเสียงดังกึกเบาๆ หรือขับทางตรงแล้วพวงมาลัยเอียงไปทางใดทางหนึ่ง แสดงว่าบูชปีกนกมีปัญหา ต้องนำรถไปตั้งศูนย์ถ่วงล้อใหม่
หากขับขี่ทางตรง แต่ล้อไม่ตรง ควบคุมให้รถนิ่งไม่ได้ หรือขับบนพื้นถนนขรุขระแล้วสะท้านมายังพวงมาลัย แสดงว่ายางรัดแร็คหรือลูกหมากแร็คมีปัญหา ต้องรีบให้ช่างแก้ไขทันที
ขับบนพื้นถนนขรุขระแล้วพวงมาลัยดึง และหลวม มีเสียงกุกกักๆ แสดงว่าลูกหมากคันชักเสีย หรือหากมีเสียงดังขณะขับบนถนนขรุขระหรือเนินลูกระนาด แสดงว่าลูกหมากปีกนกอาจมีปัญหา ต้องรีบให้ช่างแก้ไขโดยด่วน
6. หม้อน้ำและระบบระบายความร้อน
หากระบบระบายความร้อนมีปัญหา อาจทำให้เครื่องยนต์น็อกได้ ดังนั้น จุดที่เจ้าของรถต้องตรวจเช็กอย่างละเอียดประกอบด้วยน้ำยาหล่อเย็น ต้องอยู่ในระดับปกติตามที่คู่มือรถยนต์กำหนด หม้อน้ำ ท่อยาง ข้อต่อระบบหล่อเย็นต้องไม่รั่วซึม และตรวจเช็กพัดลมหม้อน้ำและมอเตอร์ว่ายังทำงานได้ตามปกติหรือไม่ อีกทั้งเจ้าของรถควรเปลี่ยนน้ำยาหม้อน้ำทุกๆ 2 ปีหรือตามที่คู่มือรถยนต์กำหนด เพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน
7. ระบบปรับอากาศและแผ่นกรองอากาศ
ทุกวันนี้ปัญหา PM 2.5 ยังคงสร้างปญหาให้ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างต่อเนื่อง ยิ่งระบบปรับอากาศและแผ่นกรองอากาศที่ดี จะช่วยปกป้องสิ่งสกปรกหรือสิ่งแปลกปลอมที่ลอยมากับอากาศได้ ดังนั้นถ้าปล่อยให้แผ่นกรองอากาศอุดตันจะทำให้เครื่องยนต์มีปัญหาภายหลัง ซึ่งเจ้าของรถสามารถตรวจสอบได้จากการเปิดตู้แอร์แล้วเอาแผ่นกรองอากาศออกมาเช็กดูว่ามีคราบมากน้อยเพียงใด พร้อมดูดเศษสิ่งสกปรกออก หากถึงเวลาเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศใหม่ก็สามารถทำได้ทันที หรือเจ้าของรถบางคนอาจใช้โอกาสนี้ เปลี่ยนแผ่นกรองอากาศพร้อมกับน้ำมันเครื่องและไส้กรองน้ำมันเครื่องไปพร้อมๆ กัน
นอกจากนี้ เจ้าของรถควรตรวจเช็กปริมาณน้ำยาแอร์ว่ายังใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ โดยหลังเช็กแผ่นกรองแอร์เสร็จแล้ว ให้ลองเปิดแอร์ในรถตามปกติระดับความเย็นที่ 23-25 องศาเซลเซียส เอามือไปอังที่ช่องปรับอากาศ ถ้าเย็นแสดงว่ายังเป็นปกติ
อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเดินทางยามค่ำคืน คือ ระบบไฟและใบปัดน้ำฝน ที่ช่วยเพิ่มทัศนวิสัยในการมองเห็น อาทิ ไฟหน้า, ไฟท้าย , ไฟตัดหมอก, ไฟเลี้ยว และไฟฉุกเฉิน ต้องมีแสงสว่าง ไม่พร่ามัว ใช้งานได้ทุกจุด อีกทั้ง น้ำยาฉีดกระจกหน้ารถและใบปัดน้ำฝน ก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเจ้าของรถต้องเติมน้ำฉีดกระจกหน้ารถให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หากพบว่า ใบปัดน้ำฝนกวาดน้ำไม่ดีหรือเสื่อมสภาพ จะเกิดอันตรายต่อการขับขี่ในช่วงฝนตกหนักหรือหมอกลงจัด จึงต้องเปลี่ยนใบปัดน้ำฝนใหม่ ซึ่งวิธีการเปลี่ยนใบปัดน้ำฝน ทำได้ง่ายๆ เพียงยกใบปัดน้ำฝนขึ้นจากกระจกรถยนต์ และกดแถบล็อกเอาใบปัดน้ำฝนอันเก่าออก จากนั้นใส่ใบปัดน้ำฝนอันใหม่ แล้วกดแถบล็อกกลับที่เดิม เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่เจ้าของรถสามารถตรวจเช็กสภาพรถยนต์ได้ด้วยตนเอง เพราะบางครั้งรถยนต์อาจมีจุดเสื่อมสภาพที่คาดไม่ถึง ฉะนั้นการตรวจเช็กสภาพรถยนต์เบื้องต้นก่อนออกเดินทางทั้งในชีวิตประจำวันหรือเดินทางไกล จะช่วยแก้ไขความผิดปกติได้อย่างทันท่วงที ที่สำคัญ ควรตรวจเช็กสภาพตามที่คู่มือรถยนต์แนะนำเพื่อความปลอดภัยให้กับทุกชีวิตที่ใช้รถใช้ถนน
ติดตามรีวิวรถออกใหม่ เช็คราคาและตารางผ่อนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ พร้อมอัปเดตข่าวสารในวงการรถยนต์ก่อนใคร ที่เว็บไซต์ Autospinn หรือจะค้นหารถมือสอง ราคาโดน ๆ พร้อมโปรโมชั่นที่น่าสนใจ ต้องนึกถึง one2car ตลาดซื้อขายรถมือสองออนไลน์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย