รถยนต์ไฟฟ้าใช้งานง่าย ดูแลง่าย ไม่จุกจิก เป็นคำที่หลายคนคุ้นตาไม่ว่าจะอ่านจากที่ไหน ก็จะเห็นคำนี้ แต่ทราบหรือไม่ว่า เจ้ารถยนต์ไฟฟ้าแม้จะดูใช้ง่าย แต่มันยังมีเรื่อง "นิดหน่อย" ที่คุณควรทราบ และควรทำซะด้วย ก่อนจะตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
รถยนต์ไฟฟ้าใช้ง่าย?
รถยนต์ไฟฟ้าใช้งานง่าย อันนี้ถือว่าไม่ปฏิเสธ เพราะเป็นรถยนต์ที่ใช้งานได้ง่ายกว่ารถยนต์เครื่องสันดาปเยอะกว่ามากๆ ด้วยความที่คุณมีหน้าที่ชาร์จแบตเตอร์รี่ให้เต็มไว้เสมอ, ตรวจเช็คลมยาง, ระบบเบรก, น้ำฉีดกระจก, ระบบปรับอากาศ เท่านั้นเอง ซึ่งง่ายกว่ารถยนต์เครื่องสันดาปปกติมากๆ ที่คุณต้องเช็คตั้งแต่น้ำมันเครื่อง, เกียร์, กรองอากาศ และอื่นๆ อีกนานับประการ ไหนจะต้องเข้าเช็คระยะตามที่กำหนดที่มีค่าใช้จ่ายหลักพันกันเป็นเรื่องปกติ
ซึ่งในส่วนของการเช็คระยะนี้รถยนต์ไฟฟ้าก็ไม่ได้จ่ายแพงขนาดนั้น เพราะเค้ามีชิ้นส่วนสิ้นเปลืองน้อยมากๆ
แต่สิ่งที่รถยนต์ไฟฟ้ายังแพ้รถยนต์สันดาปในปัจจุบันอยู่นั้นคือ "การเติมพลังงาน" อย่างที่ทราบกันดีว่ารถยนต์น้ำมัน เราก็ไปเติมน้ำมันตามปั้มน้ำมัน ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที ก็ได้พลังงานเต็มเปี่ยมแล้ว แต่ถ้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า คุณต้องใช้เวลาราวๆ 30 นาที ถึงจะได้พลังงานสำหรับขับขี่ราว 80% แล้วแต่รุ่นรถนั้นๆ
แต่ข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้านั่นคือ คุณสามารถชาร์จแบตเตอร์รี่ที่บ้านได้ !
ทำให้คุณ มีพลังงานเต็มเปี่ยมออกจากบ้านทุกครั้ง ต่างจากรถยนต์สันดาปที่คุณจะเติมน้ำมันที่บ้าน ไม่ได้ !
(ยกเว้นว่าบ้านเป็นปั้มน้ำมัน หรือมีแกลลอนน้ำมันที่บ้าน แต่คนทั่วไปก็ไม่น่าจะเก็บน้ำมันไว้ที่บ้านนะ)
แต่ไฟฟ้า เชื่อได้ว่าแทบทุกบ้านในประเทศไทย เข้าถึงไฟฟ้าหมดแล้วอย่างแน่นอน เพราะงั้นแล้วเรื่องแหล่งพลังงานไฟฟ้าเนี้ย หายห่วง
แต่ ก็ไม่ใช่ทุกปลั๊กไฟ หรือบ้านทุกหลัง ที่สามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้นะครับ เพราะว่ารถยนต์ไฟฟ้าเนี้ย เค้ามีอัตราการบริโภคพลังงานที่สูงกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายๆ ชิ้นในบ้านพอสมควร ยกตัวอย่างเช่นไมโครเวฟ ที่มีอัตราบริโภคพลังงานที่ 2,000 วัตต์ แต่รถยนต์ไฟฟ้า แค่ชาร์จแบบ AC ก็บริโภคพลังงานเริ่มต้นที่ 2,500 วัตต์ขึ้นไปแล้วครับ (ขึ้นอยู่กับสเป็คของตัวเครื่องชาร์จด้วย)
นอกจากนี้ ปลั๊กไฟในบ้านเรือนของเราโดยทั่วไป มีคุณสมบัติการจ่ายพลังงานไฟฟ้าที่ 3,680 วัตต์ และถ้าให้พีคยิ่งกว่านั้นก็จะเป็นเรื่องของ "มิเตอร์ไฟฟ้า" ที่มีเรื่องให้คุณต้องทราบอีกครับ
มิเตอร์ไฟฟ้าชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับบ้านใครที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานนั้น สิ่งที่คุณต้องตรวจสอบก่อนเลยนั้นคือเรื่องของ "มิเตอร์ไฟฟ้า" ซึ่งสามารถเดินไปดูได้ที่หน้าบ้านของท่านครับ บ้านในปัจจุบันโดยส่วนใหญ่จะติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแบบ 15(45)A แบบ 1 เฟส 2 สาย ซึ่งมิเตอร์ไฟฟ้าระดับนี้ "พอสามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้" เพราะเค้ายังมีระดับการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่เพียงพอต่อการใช้งานอยู่ครับ
เนื่องจากมิเตอร์แบบ 15(45)A จะสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ 3300(9900) วัตต์ นั่นหมายความว่าคุณยังพอสามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ Plug-in Hybrid ได้อยู่ โดยไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อระบบไฟฟ้า
แต่ถ้าบ้านของคุณ ใช้มิเตอร์ไฟฟ้าแบบ 5(15)A ซึ่งสามารถจ่ายไฟฟ้าได้เพียง 1,100(3,300) วัตต์ ซึ่งมีความอันตรายมากครับ ไม่แนะนำให้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด แนะนำให้เปลี่ยนเป็นขนาด 15(45) ขึ้นไป หรือถ้าเป็น 30(100) ยิ่งดีครับ
ภาพจากการไฟฟ้านครหลวง
มิเตอร์ TOU ชาร์จรถไฟฟ้า ของต้องมี
ประเภทของมิเตอร์ไฟฟ้าในบ้านอยู่อาศัย มี 2 แบบหลัก ได้แก่แบบทั่วไปที่เราใช้งานกัน อัตราค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ราวๆ 4.4217 บาท/หน่วย ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนมิเตอร์ TOU หรือมิเตอร์แบบ Time of Use ซึ่งจะมีเรทการคิดค่าไฟอยู่ 2 แบบ ได้แก่ช่วง On Peak กับ Off Peak ซึ่งมีราคาไฟฟ้าแตกต่างกันถึง 2 เท่า
โดยช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง (On Peak) ระหว่างเวลา 09.00-22.00 น. ของวันจันทร์-ศุกร์ อัตราค่าไฟฟ้า 5.7982 บาท ต่อหน่วย
ช่วงความต้องการไฟฟ้าต่ำ (Off Peak) ระหว่างเวลา 22.00-09.00 น. ของวันจันทร์-ศุกร์ และช่วงเวลาระหว่าง 00.00-24.00 ของวันเสาร์-อาทิตย์ วันแรงงานแห่งชาติ วันหยุดราชการตามปกติ (ไม่รวมวันพืชมงคลและวันหยุดชดเชย) อัตราค่าไฟฟ้า 2.6369 บาท ต่อหน่วย
ยกตัวอย่างเช่น เราชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยมิเตอร์ปกติ ด้วยปริมาณไฟฟ้า 50 kWh เราจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่ 221 บาท
แต่ถ้าเราใช้มิเตอร์ TOU ชาร์จในช่วง Off Peak เราจะจ่ายค่าไฟฟ้าเพียง 131.8 บาท ประหยัดได้เกือบครึ่งหนึ่ง และเป็นวิธีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่มีต้นทุนถูกที่สุดในปัจจุบัน
ภาพจาก การไฟฟ้านครหลวง
ระบบไฟฟ้าในบ้าน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับการพิจารณาว่าควรปรับปรุงระบบไฟฟ้าภายในบ้าน เพื่อรถยนต์ไฟฟ้าหรือไม่นั้น นอกจากการตรวจสอบเบื้องต้นจากมิเตอร์หน้าบ้านแล้ว การตรวจสอบดูเมนเบรกเกอร์ และเบรกเกอร์ลูกย่อย ก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง
นอกจากเราจะทราบสเป็คของเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าว่ามีอัตราการรับไฟฟ้าที่เท่าใดแล้วนั้น เราต้องตรวจเช็คด้วยว่าตัวเมนเบรกเกอร์เรามีขนาดเพียงพอต่อการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และการใช้งานไฟฟ้าโดยปกติภายในบ้านหรือไม่
และตัวเบรกเกอร์ลูกย่อยที่ใช้ควบคุมการจ่ายพลังงานไฟฟ้าไปยังปลั๊กไฟว่ามีขนาดเพียงพอต่อการบริโภคพลังงานหรือไม่ หากไม่เพียงพอ ท่านจำเป็นจะต้องเปลี่ยนเบรกเกอร์ใหม่ รวมไปถึงต้องตรวจเช็คตัวสายไฟฟ้าด้วยว่ามีขนาดสอดรับกับการใช้งานหรือไม่ ซึ่งท่านสามารถปรึกษากับช่างไฟฟ้าได้โดยตรง
นอกจากนี้ หากบ้านของท่านมีอายุที่ค่อนข้างเก่า สายไฟฟ้าใช้งานมาเกิน 20 ปีแล้ว ทางเราแนะนำให้อัพขนาดมิเตอร์เป็น 30(100)A และเปลี่ยนสายไฟฟ้าใหม่ทั้งบ้านไปเลยครับ เพราะไหนๆ ก็ทำแล้ว ก็ทำทีเดียวเลย จบกว่า นอกจากจะได้เปลี่ยนสายไฟทั้งบ้านแล้ว ยังได้เพิ่มจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแยกมาโดยเฉพาะ อีกทั้งยังทำให้บ้านของเราห่างไกลจากเหตุไฟฟ้าลัดวงจรเนื่องจากอายุการใช้งานของสายไฟฟ้าด้วยนะครับ
แต่ถ้าท่านไม่อยากให้ค่าชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า มาปนอยู่กับค่าไฟฟ้าของบ้านแบบปกติ ท่านสามารถติดต่อขอเพิ่มมิเตอร์แยกสำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ โดยสามารถปรึกษากับการไฟฟ้าได้โดยตรงครับ
เครื่องตัดไฟรั่ว
เครื่องตัดไฟรั่ว อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบ้านที่มีเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพราะมันช่วยไม่ให้การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเกิดอันตรายจากพลังงานไฟฟ้านั่นเอง โดยมันทำหน้าที่ตรวจจับไฟฟ้ารั่ว ไม่ว่าจะเกิดจากฟ้าฝ่า, ใช้ไฟเกิน กระทั่งไฟฟ้าเกิดการลัดวงจร ช่วยป้องกันไฟดูด ซึ่งมันสามารถปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของเราได้เป็นอย่างดี
ตู้ชาร์จรถไฟฟ้า
เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว สุดท้ายที่จะมาดูนั่นคือตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่จะติดตั้งนั่นเอง โดยตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านนั้นต้องสอดคล้องกับเต้าชาร์จบนรถยนต์ไฟฟ้าของเราด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมักจะนำเข้ามาจากประเทศจีนหรือประเทศโซนยุโรป ซึ่งมักจะใช้หัวชาร์จ AC Type 2 มาตรฐานยุโรปเป็นส่วนใหญ่
โดยหัวชาร์จประเภทนี้ มีกำลังชาร์จสูงสุดที่ 22 kW ขึ้นอยู่กับกำลังไฟของตู้ชาร์จ ทั้งนี้ต้องสอดคล้องกับระบบไฟฟ้าของบ้านด้วยว่าสามารถรองรับกับตู้ชาร์จกำลังขนาดนั้นได้หรือไม่
ส่วนการชาร์จแบบ DC นั้น ปัจจุบันนี้มักจะอยู่กับตามสถานีชาร์จมากกว่า เพราะการชาร์จแบบ DC เป็นการชาร์จด่วน เน้นความเร็วซะมากกว่า ส่วน AC จะเป็นการชาร์จแบบช้า เน้นชาร์จไปเรื่อยๆ หรือเสียบชาร์จข้ามคืน เป็นต้น
สุดท้ายนี้ บทความของเราก็เป็นเพียงแนวทางสำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น หากท่านยังมีข้อสงสัยทางเทคนิคประการใด ทางเราขอแนะนำให้ปรึกษากับการไฟฟ้าได้โดยตรง เพราะปัจจุบันนี้ทางการไฟฟ้าเองเค้าก็มีนโยบายสนับสนุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เราสามารถปรึกษาเรื่องระบบไฟฟ้าทางเทคนิคกับการไฟฟ้าได้โดยตรงครับ
สำหรับกรุงเทพ ติดต่อการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โทร. 1130
สำหรับต่างจังหวัด ติดต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โทร. 1129
ติดตามรีวิวรถออกใหม่ เช็คราคาและตารางผ่อนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ พร้อมอัปเดตข่าวสารในวงการรถยนต์ก่อนใคร ที่เวปไซต์ Autospinn หรือจะค้นหารถมือสอง ราคาโดน ๆ พร้อมโปรโมชั่นที่น่าสนใจ ต้องนึกถึง one2car ตลาดซื้อขายรถมือสองออนไลน์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย