“ภาษีมรดก” หากกล่าวคำนี้ขึ้นมา เราก็เชื่อเหลือเกินค่ะว่าหลาย ๆ คน คงจะต้องเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว และก็เชื่อว่ายังมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่รู้ว่าภาษีมรดกคืออะไร ? ใครจะได้รับ ? หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ? ดังนั้นในวันนี้เราจึงจะขอมาสรุปใจความสำคัญเกี่ยวกับภาษีมรดกให้คุณได้หายสงสัยกัน ซึ่งจะมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น เราไปติดตามพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
ภาษีมรดก คืออะไร ?
ภาษีมรดก คือ ภาษีที่จะโดนสรรพากรเรียกเก็บ เมื่อมีมรดกจากผู้ตายถูกส่งต่อไปให้แก่ผู้รับมรดก ไม่ว่าจะเป็นบุพการี ทายาท หรือแม้กระทั่งผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทางสายเลือดแต่ได้รับมรดกส่วนนั้น (ตามพระราชบัญญัติภาษีมรดก พ.ศ. 2558 ได้กำหนดเอาไว้ว่า ผู้ที่ได้รับทรัพย์มรดกจากผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน หรือมิใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดาน ต้องเสียภาษีมรดก) ทั้งนี้มรดกจะต้องมีเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป และผู้รับมรดกจะเสียภาษีไม่เท่ากัน ซึ่งต้องดูจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตาย โดยจะมีการจัดเก็บในอัตรา 5% - 10% จากมรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท
มรดก(ทรัพย์สิน)ไหนบ้างที่ต้องเสียภาษีมรดก ?
สำหรับมรดกหรือทรัพย์สินที่จะต้องเสียภาษี จะถูกแบ่งตามที่กฎหมายกำหนด คือ "สังหาริมทรัพย์" และ "อสังหาริมทรัพย์" โดยจะสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทได้ดังนี้
- อสังหาริมทรัพย์ : อาทิ บ้าน ที่ดิน คอนโด หรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- หลักทรัพย์ตามกฎหมาย : อาทิ หุ้น หุ้นกู้ หน่วยลงทุน ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ต่าง ๆ ที่ออกโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศและต่างประเทศ
- เงินฝาก
- ยานพาหนะ : อาทิ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ เครื่องบินส่วนตัว ฯลฯ ทั้งที่จดทะเบียนในประเทศและต่างประเทศ
- ทรัพย์สินทางการเงิน
มรดก(ทรัพย์สิน)ที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดก
เมื่อมีทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดกไปแล้ว มันก็ต้องมีทรัพย์สินที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดกเช่นเดียวกันค่ะ โดยเราได้สรุปออกมาเป็นข้อ ๆ ดังนี้
- เงินสด
- ทองคำ
- เพชรพลอย เครื่องเพชร เครื่องประดับที่มีมูลค่า
- ของสะสม ของโบราณ
- ทรัพย์สินทางปัญญา
ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีมรดก ?
ผู้ที่จะต้องเสียภาษีมรดก คือ “ผู้ที่ได้รับมรดก” ทั้งนี้มูลค่าของมรดกจะต้องเกิน 100 ล้านบาท ซึ่งผู้ที่ได้รับมรดกจะต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท โดยรายละเอียดของผู้ที่จะได้รับมรดกมีดังนี้
บุคคลธรรมดา
- เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย
- เป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย
- เป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย แต่หากได้รับมรดกที่อยู่ในประเทศไทยจะเสียภาษีเฉพาะมรดกที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
นิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย
หากผู้รับมรดกที่เป็นนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หากอยู่ในเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ก็จะต้องเสียภาษีมรดกเช่นกัน
- เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย
- นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายในประเทศไทย
- เป็นนิติบุคคลที่ผู้มีสัญชาติไทย ถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในขณะมีสิทธิได้รับมรดก
- เป็นนิติบุคคลที่ผู้มีสัญชาติไทย เป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการเกินกึ่งหนึ่งของคณะบุคคลซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการทั้งหมด
ในกรณีที่นิติบุคคลไม่มีสัญชาติไทย และหากได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
อัตราการเก็บภาษีมรดก
อัตราในการเก็บภาษีมรดกนั้น จะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่มั่นคงและมีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ชัดเจนดังนี้
- ผู้ที่ได้รับมรดกเป็นบุพการี พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือผู้สืบสันดาน เช่น ลูก หลาน เหลน จะเสียภาษีมรดกอยู่ที่ 5%
- ผู้ที่ได้รับมรดกเป็นสามี ภรรยา ที่ได้มีการจดทะเบียนสมรส ไม่ต้องเสียภาษีมรดก
- ผู้ที่ได้รับมรดกเป็นบุคคลภายนอก ไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ให้มรดก จะเสียภาษีมรดกอยู่ที่ 10%
ข้อยกเว้นที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดก
- ผู้เสียชีวิตได้ส่งมอบมรดกให้ผู้รับ ก่อนที่พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 จะถูกบังคับใช้ โดยพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559
- ผู้เสียชีวิตได้ส่งมอบมรดกนั้น เพื่อใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ เช่น วัด มูลนิธิ สถาบันการศึกษา
- ผู้เสียชีวิตได้ส่งมอบมรดกแก่หน่วยงานของภาครัฐเพื่อทำประโยชน์ เช่น ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบริหารราชการแผ่นดิน องค์การมหาชนที่จัดตั้งโดยกฎหมาย หรือรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งกฎหมายโดยเฉพาะ
- ผู้เสียชีวิตส่งมอบมรดกให้แก่องค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์กรสหประชาชาติ สถานทูต
- ผู้ได้รับมรดกเป็นสามีหรือภรรยาของผู้ให้มรดก และได้มีการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้นั้นจะได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีมรดก
บทลงโทษหากหลีกเลี่ยงไม่ยอมเสียภาษีมรดก
เมื่อได้รับมรดกไปแล้วแต่จงใจหลีกหนีไม่ยอมเสียภาษีมรดก เราก็ขอบอกเลยค่ะว่า...มีความผิดทางกฎหมายแบบเต็ม ๆ ซึ่งบทลงโทษจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
บทลงโทษสำหรับบุคคลธรรมดา
- หากไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ม.60) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท
- หากไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมิน หรือของประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- หากทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึด หรืออายัด ให้แก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท
- หากจงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือให้ความเท็จ โดยเจตนาละเลย โดยฉ้อโกงหรือใช้อุบาย โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือแนะนำหรือสนับสนุนให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บทลงโทษสำหรับนิติบุคคล
หากผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคล ต้องรับโทษ โดยถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับข้อมูลเกี่ยวกับภาษีมรดกที่เราได้นำมาฝาก ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งค่ะว่าผู้อ่านทุก ๆ ท่านที่อ่านมาถึงจุดนี้ คงจะรู้จักและเข้าใจกับคำว่า “ภาษีมรดก” กันมากยิ่งขึ้น และสามารถนำไปปรับใช้หรือวางแพลนเรื่องมรดก/พินัยกรรมได้อย่างมีแบบแผน และไว้โอกาสหน้าเราจะนำข้อมูลดี ๆ อะไรมาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามได้ที่ Propertyhub Blog : บทความที่รวมทุกเรื่องราวของชาวอสังหาฯ
และสำหรับใครที่กำลังมองหาบ้าน คอนโด ตึกแถว ที่ดินหรืออสังหาฯ ในรูปแบบอื่น ๆ คุณก็สามารถเข้าไปเลือกชมได้ที่ Propertyhub เว็บไซต์ที่รวบรวมประกาศปล่อยเช่า/ขายอสังหาฯ ที่ใช้งานง่ายมากที่สุด