ในช่วงที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ในปี 2567 ภายใต้ชื่อ “Easy e-Receipt” ซึ่งมาแทนมาตรการช้อปดีมีคืนที่เคยใช้ในปี 2565 และ 2566 โดยมาตรการ Easy e-Receipt นี้จะช่วยให้ประชาชนสามารถนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ที่ออกโดยผู้ประกอบการ(ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) ไปยื่นขอลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูงสุดถึง 50,000 บาท
“คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจถึง 7 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะกระตุ้น GDP ได้อีก 0.18% เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ ส่วนผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้คาดว่าจะอยู่ที่หลักพันล้านบาท”
นาย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566
ทั้งนี้มาตรการ Easy e-Receipt นี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยผู้ที่สามารถใช้สิทธิได้จะต้องเป็นผู้มีเงินได้และมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) และต้องซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยจุดเด่นของมาตรการ Easy e-Receipt นี้ อยู่ที่การลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 50,000 บาท ซึ่งสูงกว่ามาตรการช้อปดีมีคืนที่เคยใช้ในปี 2565 และ 2566 นอกจากนี้มาตรการ Easy e-Receipt ยังครอบคลุมสินค้าและบริการที่หลากหลาย เพื่อให้ประชาชนมีตัวเลือกในการใช้จ่ายที่มากขึ้น อีกทั้งประชาชนยังสามารถนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกโดยร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก ธุรกิจบริการต่าง ๆ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ไปยื่นขอลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
Easy e-Receipt คืออะไร ?
Easy e-Receipt คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยในปี 2567 โดยให้สิทธิแก่ประชาชนสามารถนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ที่ออกโดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไปยื่นขอลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูงสุด 50,000 บาท หรือหากจะให้สรุปแบบง่าย ๆ เลยก็คือ Easy e-Receipt มาแทนมาตรการช้อปดีมีคืน นั่นเอง
เงื่อนไขใช้สิทธิมาตรการลดหย่อนภาษี 50,000 บาท Easy E-Receipt
ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล)
ซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์และนิตยสารทั้งในรูปแบบปกติ และ e-book รวมถึงสินค้า OTP ซึ่งได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว
ต้องได้รับใบกำกับภาษีเต็มรูป ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร
สามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567
วิธีการใช้ Easy e-Receipt
ซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ขอใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) จากผู้ประกอบการ
บันทึกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ลงในระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร
ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2568
สินค้าและบริการที่ไม่เข้าเงื่อนไข Easy e-Receipt 2567
สุรา เบียร์และไวน์
ยาสูบ
ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์และเรือ
น้ำมันและก๊าซ
ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ฯลฯ
ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์
ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
(โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นๆ จะเป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด)
โดยรวมแล้วมาตรการ Easy e-Receipt เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะสามารถช่วยให้ประชาชนประหยัดเงินได้มากขึ้นและยังสามารถช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก Easy e-Receipt ครอบคลุมสินค้าและบริการที่หลากหลายมากขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้อย่าลืมติดตามรายละเอียดของมาตรการ Easy e-Receipt อย่างใกล้ชิด ซึ่งถ้าหากมีอะไรอัปเดต ทีมงาน Propertyhub จะรีบนำข้อมูลมาฝากอย่างแน่นอน
: รวมเงื่อนไขมาตรการช้อปดีมีคืน สำหรับลดหย่อนภาษี ปี 2566