เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมานั้น กระทรวงมหาดไทยออกประกาศมา 2 ฉบับ คือมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนและจดทะเบียนจำนองเหลือร้อยละ 0.01% เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจะสภาวะวิกฤตโควิด-19 โดยกรณีการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่ดินนั้น จะต้องมีพร้อมด้วยที่อยู่อาศัยประเภท บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถวหรืออาคารพาณิชย์ จากผู้จัดสรรที่ดินตามกฎหมาย ในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท อีกทั้งกรณีการโอนและการจำนองห้องชุดในอาคารชุดจากผู้ประกอบการที่ขอจดทะเบียน จะต้องมีราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท
มาตรการลดค่าโอน-จำนอง เหลือ 0.01% มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ ?
มาตาการรัฐฉบับนี้เริ่มมีผลใช้ตั้งแต่วันถัดไปจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา
รายละเอียดที่สำคัญของมาตรารัฐฉบับนี้!
1.เจตนารมณ์อันดีงาม
มาตรการรัฐฉบับนี้ได้ออกมาช่วยเหลือและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง รวมไปถึงช่วยรักษาสมดุลของเศรษฐกิจในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
2.การบังคับใช้
ตั้งแต่วันถัดไปจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564) ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564
3.หลักเกณฑ์ของผู้ขาย
3.1 ผู้จัดการที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย
3.2 ผู้ประกอบการที่ขอจดทะเบียนอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
4.หลักเกณฑ์ผู้ซื้อ
ผู้ซื้อจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยเท่านั้น
5.หลักเกณฑ์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
5.1 ราคาซื้อขายและวงเงินจำนองอสังหาริมทรัพย์
(1) ราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย
(2) มูลค่าจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย กรณีจำนองต้องจดทะเบียนขายและจำนองในคราวเดียวกันเท่านั้น
*** กรณีซื้อขายและจำนองเกินกว่า 3 ล้านบาทต่อหน่วย ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามปกติทั้งหมด ***
5.2 ประเภทอสังหาริมทรัพย์และหลักเกณฑ์
(1) ต้องเป็นที่ดินพร้อมอาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน
(2) กรณีขายและจำนองที่ดินพร้อมอาคาร ได้รับลดทั้งที่ดินและอาคาร
(3) กรณีขายที่ดินหลายแปลงพร้อมอาคาร จะได้รับลดเฉพาะที่ดินแปลงที่เป็นที่ตั้งอาคารเท่านั้น ส่วนแปลงที่เป็นที่ดินเปล่า แม้ขายรวมกันก็ไม่ได้รับลดค่าธรรมเนียม
(4) ได้ลดเฉพาะกรณีที่อยู่อาศัยใหม่
(5) ที่ดินจัดสรรเปล่าไม่ได้ลดค่าธรรมเนียม
5.3กรณีห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย
(1) ได้ลดสำหรับการโอน (ซื้อขาย) อย่างเดียว และการโอน (ซื้อขาย) แล้วจำนองในคราวเดียวกัน
(2) ต้องเป็นห้องชุดที่เป็นที่อยู่อาศัยตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดแล้ว
(3) ลดได้เฉพาะกรณีห้องชุดใหม่
(4) ลดให้เฉพาะกรณีซื้อจากผู้ประกอบการที่ขอจดทะเบียนอาคารชุดเท่านั้น
6.การลดค่าธรรมเนียม
6.1ค่าธรรมเนียมการโอน
(ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุด)
โดยราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย ได้รับลดค่าธรรมเนียมจากร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ เหลือร้อยละ 0.01 ของราคาประเมินทุนทรัพย์
(หากราคาซื้อขายเกินกว่า 3 ล้านบาท ไม่ได้รับลดค่าธรรมเนียมใดๆ
ทั้งสิ้น) ซึ่งในส่วนนี้ถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนได้โดยตรง
6.2ค่าธรรมเนียมการจำนอง
วงเงินจำนองต้องไม่เกิน
3 ล้านบาทต่อหน่วย ได้รับลดค่าธรรมเนียมจากร้อยละ 1 ของวงเงินจำนองเหลือร้อยละ 0.01 ของวงเงินจำนอง
(วงเงินจำนองเกิน 3 ล้านบาท ไม่ได้รับลดค่าธรรมเนียม)
6.3การจดทะเบียนการโอนและการจดทะเบียนจำนองต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน
7.การเก็บภาษีอากร หัก ณ ที่จ่าย เรียกเก็บภาษีอากรตามปกติ
8.ประเภทการจดทะเบียน
8.1 การจดทะเบียนประเภทขาย
การจดทะเบียนประเภทขายฝาก ขายทอดตลาด ขายตามคำสั่งศาลโอนชำระหนี้ โอนชำระหนี้จำนองหรือกรรมสิทธิ์รวมมีค่าตอบแทน
จะไม่ได้รับลดค่าธรรมเนียม
8.2 การจดทะเบียนประเภทจำนอง
(1) การจดทะเบียนจำนองต้องสืบเนื่องมาจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการนี้ ภายหลังประกาศกระทรวงมหาดไทยใช้บังคับและได้รับการลดค่าธรรมเนียมการโอนด้วย กรณีได้มาโดยทางอื่น เช่น รับให้หรือรับมรดกแล้วนำมาจำนองไม่ได้รับลดค่าธรรมเนียม
(2) ต้องเป็นการจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้ของผู้จำนอง (ซึ่งเป็นผู้ซื้อเท่านั้น) และเฉพาะมูลหนี้ซื้อที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุดตามมาตรการนี้เท่านั้น
รายละเอียดดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการรัฐที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนและกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเร่งด่วนในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรง! ดังนั้นใครที่กำลังมีแพลนว่าจะซื้อ-ขาย-จำนอง ที่พักอาศัยอยู่ล่ะก็ รายละเอียดข้างต้นคงจะช่วยให้คุณเข้าใจในมาตรการนี้กันมากยิ่งขึ้น
ติดตามข่าวสารในแวดวงอสังหาริมทรัพย์แบบอัพเดตได้ที่
Facebok : Propertyhub
Website : Propertyhub